วันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ไปรับสัญญาบัตร พัดยศที่นครพนม [คณะสงฆ์อำเภอโนนสูง]

เดินทางสู่ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร
ตำบลธาตุพนม  อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม


รายนามพระที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ และเลื่อนของคณะสงฆ์อำเภอโนนสูง
     แต่งตั้งใหม่ ๓ รูป
          ๑. เจ้าอธิการแจ่ม  อาจิตฺตธมฺโม : เจ้าคณะตำบลมะค่า เขต ๑
          ๒. พระอธิการยัง  อุปสนฺโน  :  เจ้าอาวาสวัดศรีสุข
          ๓. พระอธิการดาวน้อย  ขนฺติกาโร : เจ้าอาวาสวัดคอนน้อย

     เลื่อน ๓ รูป
          ๑. พระครูสถิตธัญญารักษ์ : เจ้าคณะตำบลหลุมข้าว
          ๒. พระครูมนูญธรรมโสภิต : เจ้าคณะตำบลขามเฒ่า
          ๓. พระครูเกษมวิริยากร : เจ้าอาวาสวัดเหล่า


เริ่มเดินทางวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๕
          คณะของเราเิดินทางจากอำเภอโนนสูง มีรถร่วมขบวน ๓ คัน นำขบวนโดย รถของพระครูสังวรประสาท [เจ้าคณะตำบลดอนชมพู] ตามมาติดๆ ด้วยรถฮุนไดป้ายแดง [ยังไม่ได้ป้ายทะเบียน] ของพ่อค้าตี๋ มีพระครูปัญญาวุฒิคุณ / พระครูปภากรพิสิฐ / ช่างเสริฐ / และผมที่ขอขึ้นไปด้วย  และตามมาแบบห่างๆ คือรถของพระครูนันทประโชติ : รองเจ้าคณะอำเภอโนนสูง  จุดหมายของเราวันนี้คือ วัดศรีมงคลใต้ จังหวัดมุกดาหาร

          ด้านหน้าคือ แม่น้ำโขง / และด้านขวาของวัดคือ ตลาดอินโดจีน




          คณะของเราเิดินทางถึงวัดศรีมงคลใต้เวลาประมาณ ๑๕:๔๗ น. โดยมี พระครูประจักษ์บุญญาทร : เลขาฯ จจ.มุกดาหาร  เป็นผู้ต้อนรับคณะของเราเป็นอย่างดี

          ขอกล่าวความเป็นมาของวัดศรีมงคลใต้ตามที่จารึกไว้พอคร่าวๆ
          วัดศรีมงคลใต้ เป็นวัดที่ประดิษฐานพระเจ้าองค์หลวง พระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน ตั้งอยู่ใกล้กับ ท่าด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดมุกดาหาร เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง สร้างขึ้นก่อนตั้งเมืองมุกดาหาร ไม่ปรากฏว่าสร้างในสมัยใด องค์มีขนาดหน้าตักกว้าง ๒.๒๐ เมตร ส่วนสูงเฉพาะองค์ถึงยอดพระเมาลี ๒ เมตร สูงจากฐาน ๓ เมตร


          ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อ พ.ศ.๒๓๑๐ เจ้ากินรีได้พาพรรคพวกอพยพจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงข้ามมาตั้งเมืองใหม่ขึ้นทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง ตรงปากห้วยมุก แล้วตั้งนามเมืองว่า เมืองมุกดาหาร วันหนึ่งขณะที่เจ้ากินรีคุมบ่าวไพร่ถากถางอยู่ใกล้ต้นตาลเจ็ดยอด ได้พบพระพุทธรูปสององค์ องค์ใหญ่เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน องค์เล็กเป็นพระพุทธรูปเหล็กอยู่ใต้ต้นโพธิ์ เจ้ากินรีจึงสร้างวัดขึ้นบริเวณนั้น และตั้งชื่อว่า วัดศรีมงคุณ [วัดศรีมงคลใต้ในปัจจุบัน] เพื่อเป็นมงคลแก่ชาวเมืองและเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปของทั้งสององค์ เมื่ออัญเชิญพระพุทธรูปทั้งสองไปไว้ในโบสถ์ รุ่งขึ้นเมื่อพระภิกษุประจำวัดเข้าไปสักการะ ก็ปรากฏว่าไม่พบพระพุทธรูปเหล็ก เมื่อค้นดูรอบๆ บริเวณวัด พบว่าพระพุทธรูปเหล็กไปประดิษฐานอยู่ใต้ต้นโพธิ์ตามเดิม และจมลงในดินเหลือแต่ยอดพระเมาลี เจ้ากินรีจึงสร้างแท่นสักการะบูชาไว้ ณ ที่นั้น และถวายนามว่า “พระหลุบเหล็ก” ส่วนพระพุทธรูปองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่วัดศรีมงคลใต้ เรียกนามว่า “พรเจ้าองค์หลวง” เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองจวบจนทุกวันนี้


          รุ่งเช้าก่อนเดินทางต่อ คณะของเราก็ได้รับความเมตตาอนุเคราะห์จากพระเดชพระครูท่านเจ้าอาวาส พระราชมุกดาหารคณี [ยอด] เจ้าคณะจังหวัดมุกดาหาร เลี้ยงข้าวต้มเป็นการลองท้องก่อนจะเดินทางไปรับอาหารเช้าที่นครพนม


วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๕ เิดินทางสู่วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร จังหวัดนครพนม
          รถของเราแรงจริงๆ เดินทางถึงวัดพระธาตุพนมฯ ประมาณ ๘ นาฬิกาเศษๆ เราคิดว่ามาแต่เช้าแล้ว  แต่ก็ยังมีคนมาเช้ากว่าเรา ทั้งคนทั้งพระ


          หลังจากที่หาที่จอดรถเรียบร้อย จากนั้นก็แยกย้ายกันไปนมัสการพระธาตุ [เป็นครั้งแรกของผมที่มา] พื้นที่ของวัดกว้างมาก แต่คนกับรถมากกว่า

          ขอนำประวัติของวัดพระพนมฯ มากล่าวไว้โดยย่อ พร้อมภาพบรรยากาศที่ผมไปสัมผัสมา

           เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๕ วัดพระธาตุพนมฯ ได้รับการยกฐานะเป็น พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร"
          วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร เป็นวัดพระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ถนนชยางกูร บ้านธาตุพนม ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม มีลักษณะเป็นเจดีย์รูปสี่เหลี่ยมจตุรัสก่อด้วยอิฐ กว้างด้านละ ๑๒.๓๓ เมตร สูง ๕๓.๖ เมตร มีกำแพงล้อมองค์พระธาตุ ๔ ชั้น องค์พระธาตุตั้งอยู่บนภูกำพร้า (เนินดินสูงจากพื้นธรรมดาประมาณ ๓ เมตร) ภายในบริเวณมีบึงขนาดใหญ่เรียกว่าบึงธาตุพนม


          ตามตำนานอุรังคธาตุ กล่าวว่า ท้าวพญาทั้งห้าผู้เป็นใหญ่ ได้แก่พญาสุวรรณภิงคาร เจ้าเมืองหนองหานหลวง พญาคำแดง เจ้าเมืองหนองหานน้อย พญาจุลณีพรหมทัต เจ้าเมืองจุลนีพรหมทัต พญาอินทรปัตถ์ เจ้าเมืองอินทปัตถนคร และพญานันทเสน เจ้านครศรีโคตรบูรณ์อันเป็นที่ตั้งของพระธาตุ ได้สร้างอูบมูงขึ้นเพื่อประดิษฐานพระอุรังคธาตุ ตามพุทธพยากรณ์ โดยก่อสร้างด้วยดินดิบ (อิฐดิบ) ฐานพระธาตุพนมได้ขุดลงไปจนเป็นอูบมุง [อุโมง] เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ กระดูกส่วนหน้าอก เมื่อก่อด้วยดินดิบเสร็จแล้ว จึงได้ก่อไฟเผาพระธาตุเป็นเวลากว่าหลายวัน อิฐจึงได้แห้งสนิทจรดกัน ในพระธาตุพนม บรรจุพระอุรังคธาตุ [กระดูกส่วนหน้าอก] ของพระพุทธเจ้า ซึ่งประมาณ พ.ศ.๘ [ทำไมไม่ตรงกับที่ผมเรียนมา] พระอุตรเถระและพระโสณเถระ สมณทูตของพระเจ้าอโศกมหาราช ได้อัญเชิญมา และพระมหากัสสปะเถระได้นำมาประดิษฐานไว้บนภูกำพร้า ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ พระธาตุพนมได้รับการบูรณะและอุปถัมภ์โดยกษัตริย์แห่งล้านช้าง
          พ.ศ.๒๒๒๓-๒๒๒๕ และเป็นรูปแบบที่นิยมในอีสาน
          พ.ศ.๒๒๓๓ พระครูโพนเสม็ด [ญาคูขี้หอม] ปฏิสังขรณ์พระธาตุให้สูงขึ้น
          พ.ศ.๒๔๘๓ รัฐบาลได้บูรณะให้สูงขึ้น
          พ.ศ.๒๕๑๘ องค์พระธาตุพนมชำรุดล้มลง ทางราชการได้ดำเนินการก่อสร้างขึ้นใหม่ ให้คงสภาพเดิม  ในวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๘ เวลา ๑๙:๓๘ น. ด้วยเหตุที่มีฝนตกพายุพัดแรงติดต่อมาหลายวันและความเก่าแก่ขององค์พระธาตุ พระธาตุพนมจึงได้ล้มทลายลงมาทั้งองค์ ประชาชนทั้งประเทศได้ร่วมบริจาคทุนทรัพย์และรัฐบาลได้ก่อสร้างองค์พระธาตุขึ้นใหม่ตามแบบเดิม การก่อสร้างนี้เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๒ นอกจากจะบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในองค์พระธาตุดั่งเดิมแล้ว ยังมีของมีค่ามากมายนับหมื่นชิ้นบรรจุและประดับไว้ในองค์พระธาตุอีกด้วย โดยเฉพาะฉัตรทองคำบนยอดพระธาตุ ซึ่งมีน้ำหนักมากถึง ๑๑๐ กิโลกรัม
   พระเทพวรมุนี (สำลี ป.ธ.๕) เจ้าคณะจังหวัดนครพนม / จล.วัดพระธาตุพนมรหาวิหาร
          วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร
          เว็บ http://www.prathatphanom.com/
          หมู่ ๑๓  ตำบลธาตุพนม  อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ๔๘๑๑๐
          เบอร์โทรศัพท์ ๐๔๒-๕๔๑๐๕๑ , ๐๘-๗๙๔๘-๒๐๑๖
       



เดินทางต่อไป เป้าหมายของเราคือ วัดธาตุเรณู ครับ
          หลังจากที่รับอาหารจนอิมท้องเรียบร้อย และพระที่ได้รับแต่งตั้งใหม่ และเลื่อนของคณะสงฆ์อำเภอโนนสูงได้เข้าสู่สถานที่ คณะของเราก็ออกเดินทางต่อ
          ก่อนจะถึงที่หมาย เราก็พากันสงสัยว่า ....เองมาถูกทางมั๊ย....! [สงสัยอะไรตอนนี้] แต่เราก็มีทาง เพราเรามีแผนที่ [ได้ใช้ซะที]
          ถึงแล้วครับ วัดธาตุเรณู

          .......พอถึงก็รีบหาห้องน้ำก่อนทันที....555 หลังจากอัอแน่นมาจากวัดพระธาตุพนมฯ

          เรามาทราบความเป็นมาของพระธาตุเรณูกันสักนิดน่าจะดี......


          วัดธาตุเรณู เดิมชื่อ วัดกลาง ตั้งอยู่ระหว่างตำบลเรณูและตำบลโพนทองติดต่อกัน เนื้อที่ดินตั้งวัดทั้งหมด ๒๐ ไร่ ๓ งาน ที่ธรณีสงฆ์ ๑ ไร่ ๑ งาน วัดนี้เป็นวัดสร้างขึ้นมาแต่ครั้งโบราณกาล แต่ไม่ปรากกฎหลักฐานแน่ชัดว่าใครเป็นผู้นำสร้าง และได้สร้างขึ้นแต่ครั้งใด พ.ศ.ใด ตามคำผู้ใหญ่ผู้เฒ่าเล่าสืบๆ กันมาว่า เจ้าเมืองผู้ปกครองเมืองเว คนแรก เมื่อได้สร้างบ้านสร้างเมืองกันเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ได้พร้อมด้วยอุปราชและกรรมการเมืองทั้งหลาย ตลอดไพร่ฟ้าราษฎรปรึกษาพิจารณาตกลงกันเป็นเอกฉันท์ เพื่อสร้างวัดขึ้นไว้ในที่ตรงใจกลางเมือง ราวปี พ.ศ.๒๓๗๓ เพื่อให้เป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง และเป็นวัดสำหรับประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาฯ   ตามธรรมเนียมหรือประเพณีการทางบ้านเมืองในสมัยนั้น

          วัดนี้ชาวบ้านชาวเมืองทั่วไปจึงเรียกชื่อตามสถานที่ตั้งวัดว่า วัดกลาง สืบๆ กันมา เพราะตั้งอยู่กลางเมืองหรือตั้งอยู่ระหว่างกลางของวัดทั้ง ๒ คือ วัดเหนือและวัดใต้ ซึ่งวัดทั้ง ๒ นี้ ได้สร้างขึ้นภายหลังเพราะการเรียกชื่อสถานที่ต่างๆ ของชนในสมัยก่อนโน้น มักนิยมเรียกกันตามภูมิประเทศหรือเหตุการณ์เกี่ยวกันสถานที่นั้นๆ ต่อมาถึงสมัยรัชการที่ ๓ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้เสด็จประพาสภาคอีสาน ได้ทรางเข้าแวะเยี่ยมประชาชนชาวเมืองเว ได้ทรงเห็นดอกไม้นานาชนิด มีดอกบัวเป็นต้น ขึ้นอยู่ตามที่ต่างๆ มากมาย และประกอบทั้งการได้ทอดพระเนตรเห็นสุภาพสตรีสาวสวยชาวเมืองเวที่มารับเสด็จจำนวนมากมาย จึงได้ประทานเปลี่ยนชื่อเมือง จากเมืองเว นามเดิมมาเป็นเมืองเรณูนคร ตั้งแต่บัดนั้นมาเมืองเวจึงได้ชื่อว่าเมืองเรณูนครจนทุกวันนี้ส่วนวัดก็ยังคงชื่อวัดกลางอยู่ตามเดิม

          ที่มาตามประวัติพื้นบ้านที่เล่าสืมมา
          พระธาตุเรณู  นั้นได้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐  โดยพระอุปัชฌาย์อิน   ภูมิโย  มีการจำลองรูปทรงมาจากพระธาตุพนมองค์เดิมในช่วงก่อนที่จะล้มลงในปี พ.ศ.๒๕๑๘  แต่มีขนาดเล็กกว่า  ประกอบด้วยซุ้มประตู ๔ ด้าน ภายในองค์พระธาตุเรณูนั้นบรรจุพระไตรปิฏก  พระพุทธรูปทองคำ  พระพุทธรูปเงิน  และของมีค่าที่ประชาชนนำมาบริจาค  รวมทั้งเครื่องกกุธภัณฑ์ของพระยาและเจ้าเมืองเดิม  มีการทำพิธีบรรจุพระบรมสาริกธาตุ และพระอรหันต์ธาตุเมื่อปี  พ.ศ.๒๕๑๙ ถือเป็นพระธาตุที่ได้รับการเคารพสักการะมากแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

          นอกจากนี้แล้ว  วัดธาตุเรณูยังเป็นที่ประดิษฐานของพระองค์แสนในพระอุโบสถ  อันเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองเหลืองตันทั้งองค์  ซึ่งเชื่อกันว่ามีอายุนานกว่า ๑๐๐ ปีแล้ว  โดยมีมาก่อนการสร้างองค์พระธาตุเรณูพระองค์แสนถือเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองนครพนม  ที่ชาวนครพนมเคารพนับถือและศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง  หากปีใดเกิดฝนแล้งก็จะอัญเชิญหลวงพ่อพระองค์แสนแห่ไปตามที่ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้เคารพบูชาและสรงน้ำเพื่อร่วมกันอธิษฐานให้ฝนตกลงมา  รวมถึงยังมีขบวนแห่อัญเชิญพระองค์แสนรอบเมืองในพิธีสรงน้ำพระวันสงกรานต์ด้วย

          คาถาบูชาพระธาตุเรณู
          นะโม ตัสสะ ภะคะวะ โต อะระหะ โต สัมมาสัมพุทธัสสะ [๓ จบ]
          ปุริมายะ  ทิสายะ  เรณูนะคะรัสมิง  สะปะริสายะ  อินทะเถเรนะ  จะสังฆะเถเรนะ  จะฐาปิตัง  เจติยัง  สิระสา  นะมามิ  อิมินะ  ปัญญกัมเมนะ  สะทา  โสตถิ  ภะวัน  ตุเม  ทักขิณายะ  ทิสายะ  เรณูนะคะรัสมิง  สะปะริสายะ  อินทะเถเรนะ  จะสังฆะเถเรนะ จะฐาปิตัง  เจติยัง  สิระสา  นะมามิ  อิมินะ ปัญญะกัมเมนะ  สะทา โสตถิ  ภะวัน  ตุเม  ปัจฉิมายะ  ทิสายะ  เรณูนะคะรัสมิง  สะปะริสายะ  อินทะเถเรนะ  จะสังฆะเถเรนะ  จะฐาปิตัง  เจติยัง  สิระสา  นะมามิ  อิมินะ  ปัญญะกัมเมนะ  สะทา  โสตถิ  ภะวัน  ตุเม

พระราชรัตนากร [สำลี ป.ธ.๕] รองเจ้าคณะจังหวัดนครพนม / เจ้าอาวาสวัดธาตุเรณู
          วัดธาตุเรณู
          ตำบลเรณู อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม
          เบอร์โทรศัพท์ ๐๔๒-๕๗๙๑๓๒,  ๐๘-๑๒๖๑-๐๙๓๐





เราจะไปกันต่อที่ วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร  ข้ามไปจังหวัดสกลนคร กันเลยทีเดียว....
          ถึงแล้วครับ.....โอ่อ่า  ผมว่าที่นี่เด่นมาก

          ผม..ทำหน้าที่อย่างเดียว คือ มาครั้งนี้ต้องได้ภาพ  ...แต่จะเอาภาพอย่างเดียวก็ดูเหงาๆ หาความรู้ติดมาด้วยดีกว่า

          พระธาตุเชิงชุม ตั้งหันหน้าไปทางหนองหารที่อยู่ทางทิศตะวันออก เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน รูปทรงสี่เหลี่ยม สูง ๒๔ เมตรเศษ ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยม ส่วนบนเป็นทรงบัวเหลี่ยม ไม่มีลวดลายประดับ ที่ฐานเจดีย์ มีซุ้มประตูทั้งสี่ด้าน ซุ้มยอดประตูมีลักษณะเป็นยอดปราสาท ข้างในทึบสร้างด้วยศิลาแลง และหินทรายแดง มีซุ้มประตูหลอกแบบขอม ด้านทิศ เหนือ ใต้ และตะวันตก ซุ้มประตูทางเข้าจริงด้านทิศตะวันออกแต่แรกเริ่มพระธาตุเชิงชุมคงเป็นปราสาทหินทรายศิลปะสมัยขอม ภายในกรอบประตูทางเข้าอุโมงค์ด้านขวามือ มีจารึกพระธาตุเชิงชุมอักษรขอมโบราณ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ องค์พระธาตุในปัจจุบันเป็นศิลปะล้านช้าง เนื่องจากช่วงที่อิทธิพลของอาณาจักรล้านช้างแผ่เข้ามาบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ และได้มีการบูรณะองค์พระธาตุขึ้นมาใหม่
          ตามพงศาวดารลาว ในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช แห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต ล้านช้าง เรียกพระธาตุเชิงชุมว่า พระธาตุหนองหาร

          อุโบสถ  พ.ศ.๒๓๗๐ สร้างพระอุโบสถหลังเดิมหรือสิมเก่า มีลักษณะเป็นสิมแบบโถง โครงสร้างเป็นไม้ก่ออิฐถือปูน หลังคาเป็นกระเบื้องไม้แบบเดิม หันหน้าไปทางทิศใต้


          ครั้งพระธานีเป็นเจ้าเมือง ภายในมีจิตรกรรมเป็นภาพเถาไม้เลื้อยเป็นแนวรอบอาคาร หน้าบันมีจิตรกรรมฝาผนังเป็นรูปเทพบุตรและเทพธิดา ดาวประจำยาม มังกรและเถาไม้เลื้อย ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปหลายองค์ ทั้งที่สร้างด้วยไม้และเป็นปูนปั้น

         วิหาร  ภายในพระวิหารประดิษฐาน หลวงพ่อพระองค์แสน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปเชียงแสน เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวสกลนคร


พระเทพสิทธิโสภณ [สุรสีห์]  เจ้าคณะจังหวัดสกลนคร / เจ้าอาวาสวัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร
          วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร
          ตั้งอยู่ที่ริมหนองหาน อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร
          เบอร์โทรศัพท์ ๐๔๒-๗๓๑๐๒๑



หลังจากนั้นคณะเราก็เดินทางกลับ  ขากลับไม่มีใครรอใครเลย  ....

เดินทางปลอดภัยทุกท่านครับ......



-------------------------------------------------
สถานที่ : วัดศรีมงคลใต้ / วัดพระธาตุพนมฯ / วัดธาตุเรณู / วัดพระธาตุเชิงชุมฯ
ถ่ายภาพ / รายงาน : s-hatcore

0 ความคิดเห็น:

  © ขอขอบคุณ Blogger template 'Ultimatum' by s-hatcore ๒๕๕๐ : s-hatcore

กลับขึ้นข้างบน : Back to TOP