วันพุธที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ตักบาตรเทโวโรหนะ [วัดหนองหว้า อำเภอโนนสูง] ๒๕๕๔


ตักบาตรเทโวโรหนะ
          ตักบาตรเทโวโรหนะ หมายถึง การทำบุญตักบาตร ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ เนื่องในโอกาสที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก คำว่า เทโว เรียกกร่อนมาจากคำว่า เทโวโรหนะ (เทว+โอโรหน) ซึ่งแปลว่า การเสด็จลงจากเทวโลก
          ความเดิมมีว่า ในพรรษาที่ ๗ นับแต่วันตรัสรู้ พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อเทศน์โปรดพระพุทธมารดา ที่ได้กำเนิดเป็นเทพบุตรอยู่ในชั้นดุสิต จนบรรลุโสดาปัตติผล ครั้นออกพรรษาในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ แล้ว จึงเสด็จลงจากเทวโลกที่เมืองสังกัสสนคร ในกาลที่เสด็จลงจากเทวโลก ได้มีเนินเป็นอันเดียวกันจนถึงพรหมโลก เมื่อทรงแลดูข้างล่าง สถานที่นั้นก็มีเนินอันเดียวกันจนถึงอเวจีมหานรก ทรงแลดูทิศใหญ่และทิศเฉียง จักรวาลหลายแสนก็มีเนินเป็นอันเดียวกัน เทวดาก็เห็นพวกมนุษย์ แม้พวกมนุษย์ก็เห็นเทวดา สัตว์นรกก็เห็นมนุษย์และเทวดา ต่างก็เห็นกันเฉพาะหน้าทีเดียว ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเปล่งฉัพพรรณรังสี ขณะที่พระองค์เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
          รุ่งขึ้นวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ชาวเมืองจึงพากันทำบุญตักบาตรเป็นการใหญ่ เพราะไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้ามาถึง ๓ เดือน การทำบุญตักบาตรในวันนั้นจึงได้ชื่อว่า ตักบาตรเทโวโรหนะ ต่อมามีการเรียกกร่อนไปเหลือเพียง ตักบาตรเทโว

          เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในวันนั้น จึงนิยม ตักบาตรเทโว กันจนเป็นประเพณีสืบมาตราบเท่าทุกวันนี้




ตักบาตรเทโวโรหนะ  ที่วัดหนองหว้า
          ตักบาตรเทโวโรหนะ  ที่วัดหนองหว้า ตำบลด่านคล้า อำเภอโนนสูง จังหวัดนครรชาสีมา กำหนดตักบาตรในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี

     พุทธศาสนิกชนชาววัดหนองหว้า ร่วมทำบุญตักบาตรรอบบริเวณศาลากลางน้ำ


    บรรยากาศภายในโรงครัว


     นายบรรยง  ไม้กลาง : รองนายกเทศมนตรีตำบลด่านคล้า เป็นประธานจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย

     พระครูวิสารวรกิจ : เจ้าคณะอำเภอโนนสูง / เจ้าอาวาสวัดหนองหว้า
                                       - ให้ศีล และแสดงพระธรรมเทศนา ๑ กัณฑ์

     หลังจากรับศีล ถวายภัตตาหาร และฟังธรรมพร้อมทั้งถวายเครื่องไทยธรรมเสร็จ พระสงฆ์วัดหนองหว้าให้พรเป็นภาษาบาลี
     พุทธศาสนิกชนกรวดน้ำ / รับพร / กราบพระรัตนตรัย


     ช่วยกันคัดแยก หลังจากที่ตักบาตรข้าวสาร อาหารแห้งเสร็จ  .....ขอบคุณทุกท่านที่ช่วยกัน


การตักบาตร
          การตักบาตร คือ ประเพณีอย่างหนึ่งที่ชาวพุทธปฏิบัติกันมาแต่สมัยพุทธกาล พระภิกษุจะถือบาตรออกบิณฑบาตเพื่อรับอาหารหรือทานอื่นๆ ตามหมู่บ้านในเวลาเช้า ผู้คนที่ออกมาตักบาตรจะนำของทำทานต่างๆ เช่น ข้าว อาหารแห้ง มาถวายพระ
          ประเพณีนี้ชาวพุทธถือกันว่าเป็นการสร้างกุศล และถือว่าเป็นการแผ่ส่วนกุศลให้กับญาติผู้ล่วงลับไปแล้วด้วย โดยเชื่อกันว่าอาหารที่ถวายไปนั้นจะส่งถึงญาติผู้ล่วงลับด้วยเช่นกัน

          กฎของพระภิกษุเกี่ยวกับการตักบาตร
          พระภิกษุนั้นจะออกบิณฑบาตทุกวัน อันเนื่องมาจากกฎของพระภิกษุมีอยู่ว่า พระภิกษุไม่สามารถที่จะเก็บอาหารข้ามคืนได้
          เวลาที่พระภิกษุออกบิณฑบาต พระภิกษุจะใช้ ๒ มือประคองบาตรเอาไว้แล้วเดินในกิริยาสำรวม พระภิกษุจะไม่เอ่ยปากขออาหารจากผู้คน หรือแสดงกิริยาในการขอ โดยส่วนมากแล้วเวลาที่พระภิกษุออกบิณฑบาตคือ ตั่งแต่ช่วงเช้ามืด (ประมาณ ๐๕:๓๐ น. อาจจะเร็วหรือช้ากว่านี้บ้างเล็กน้อยในแต่ละท้องที่) จนถึงก่อน ๐๗:๐๐ น. ซึ่งเป็นเวลาที่พระภิกษุฉันอาหารภัตตาหารเช้า
เมื่อเวลามีคนให้ทาน พระภิกษุต้องรับทานที่คนให้ทั้งหมด ไม่สามารถที่จะเลือกได้ว่าจะรับหรือไม่รับ หรือบอกกับผู้คนว่าตนต้องการสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่อย่างไรก็ดี มีทานบางชนิดที่พระภิกษุไม่สามารถรับได้ นั่นคือ
          ๑. ทานที่ได้มาโดยวิธีการทุจริตทานแก่ตน เช่น ได้มาจากการขโมย และพระภิกษุรู้ว่าบุคคลคนนั้นได้ขโมยของนั้นเพื่อที่จะให้
          ๒. เนื้อสัตว์ที่ต้องห้าม ๑๐ อย่างตามหลักศาสนาพุทธ (เช่น เนื้อคน, เนื้อช้าง เป็นต้น)
          ๓. เนื้อสัตว์ที่ได้มาจากการที่บุคคลคนนั้นตั้งใจที่จะฆ่าสัตว์โดยมีจุดประสงค์หลักคือเพื่อที่จะเอาเนื้อมาถวายพระภิกษุโดยเฉพาะ และพระภิกษุรู้ว่าเนื้อนั้นมาจากการฆ่าเพื่อที่จะนำมาถวายตนโดยเฉพาะ
          ๔. ผลไม้ที่มีเมล็ด บุคคลที่ตักบาตรไม่สามารถถวายผลไม้ที่มีเมล็ดได้ เพราะถือว่าเมล็ดนั้นยังสามารถที่จะให้กำเนิดชีวิตได้อยู่ ถ้าจะถวายต้องเอาเมล็ดออกก่อน
          ๕. วัตถุดิบในการทำอาหาร เช่น ข้าวสาร, แป้ง เพราะตามหลักของศาสนานั้นไม่อนุญาตที่จะให้พระภิกษุประกอบอาหาร

หมายเหตุ : ในปัจจุบัน กฎข้อที่ ๔ และ ๕ สามารถอนุโลมได้ เนื่องจากชีวิตสังคมปัจจุบันที่เร่งรีบ ผู้คนอาจจะไม่มีเวลาที่จะเตรียมอาหารมากนัก โดยหน้าที่ในการเตรียมอาหารนั้นจะเป็นหน้าที่ของเด็กวัด



เพิ่มเติม
          คำว่าตักบาตรนั้น สามารถที่จะเรียกว่าใส่บาตรก็ได้ แล้วควรเรียกว่าตักบาตรหรือใส่บาตรกันแน่
          คำว่าตักบาตรนั้นมาจากกิริยาอาการที่ใช้ทัพพีตักข้าวใส่บาตรพระ แต่ในปัจจุบันนี้เนื่องจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ผู้คนใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบมากขึ้น ผู้คนจึงนำข้าวสารหรือของอื่นๆ ใส่ถุงหรือกล่อง เมื่อถึงเวลาตักบาตรจะได้สะดวกที่จะหยิบของใส่ได้ทันที คำว่าใส่บาตรจึงถือว่าเป็นวิวัฒนาการทางภาษาเพื่อสอดคล้องกับยุคปัจจุบัน
          สรุปว่าใช้ได้ทั้ง ๒ อย่าง




-------------
สถานที่ : วัดหนองหว้า

ถ่ายภาพ / รายงาน : s-hatcore

0 ความคิดเห็น:

  © ขอขอบคุณ Blogger template 'Ultimatum' by s-hatcore ๒๕๕๐ : s-hatcore

กลับขึ้นข้างบน : Back to TOP