วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วัดหนองหว้า ตำบลด่านคล้า อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา

ประวัติวัดหนองหว้า
ตำบลด่านคล้า  อำเภอโนนสูง  จังหวัดนครราชสีมา ๓๐๑๖๐
                      


ประวัติวัดหนองหว้า

สถานที่ตั้ง  :   เลขที่ ๑๓๓ หมู่ที่ ๕ ตำบลด่านคล้า อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา
                        ทิศเหนือ            ติดถนนหมู่ ๖ บ้านหนองหว้า
                        ทิศใต้                ติดถนนหมู่ ๕ บ้านหนองสะแก
                        ทิศตะวันออก    ติดถนน
                        ทิศตะวันตก       ติดสระน้ำ

พื้นที่  :  จำนวน ๓๖ ไร่ ๒ งาน


การสร้างวัด ยุคเริ่มต้น
          วัดหนองหว้า เริ่มก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๐ โดย หลวงพ่อคง (ไม่ทราบฉายา) โดยครั้งแรกมีเพียงกุฎีที่สร้างด้วยไม้เพียง ๑ หลัง และมีเจ้าคณะอำเภอโนนสูงในสมัยนั้น (ไม่ปรากฏชื่อ) เป็นผู้ให้ความอุปถัมภ์ฝ่ายสงฆ์ ทางด้านฆราวาสมีผู้นำที่สำคัญ คือ
          ๑.นายแก้ว (ไม่ทราบนามสกุล)
          ๒.นายเกิด ไม้กลาง
          ๓.ขุนเดช ไพวรรณ์
          ๔.นายป้อม มั่นกลาง
          ในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ทางราชการได้รวบรวมท้องที่ตำบลโนนสูง ตำบลใหม่ ตำบลบิง ตำบลจันอัด ตำบลด่านคล้า (เป็นที่ตั้งวัดหนองหว้า) ตำบลโตนด ตำบลขามเฒ่า ตำบลขามสะแกแสง (ปัจจุบันตั้งเป็นอำเภอขามสะแกแสง) ตำบลโนนวัด ตำบลเสลา ตำบลทองหลาง รวม ๑๑ ตำบล ตั้งเป็นอำเภอ เรียกว่า   อำเภอกลาง
          การที่เรียกชื่ออำเภอนี้ว่าอำเภอกลางนั้น เนื่อง จากตั้งอยู่ระหว่างอำเภอเมืองนครราชสีมา(อำเภอใน) กับอำเภอบัวใหญ่(อำเภอนอก) ส่วนอำเภอคงนั้นเดิมเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอบัวใหญ่ ดังนั้น จะเห็นว่าชาวอำเภอโนนสูงหรืออำเภอกลางดั้งเดิมจะใช้ชื่อสกุลลงท้ายด้วย “กลาง” เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชาวโคราชที่ชื่อสกุลจะสามารถบ่งชี้ที่มาของอำเภอได้
          เมื่อประมาณปีพ.ศ.๒๔๕๐- ๒๔๕๙ สมัยพระยากำธรพายัพทิศ (ดิษฐ์ โสฬส) เป็นนายอำเภอ ได้พิจารณาเห็นว่าอำเภอตั้งอยู่บริเวณวัดร้างมาก่อน จึงได้เปลี่ยนชื่อให้เหมาะสมกับสภาพของที่ตั้งและใช้ชื่อว่า อำเภอโนนวัด
          ต่อ มาเมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๘๗ กระทรวงมหาดไทยได้ปรับปรุงเขต อำเภอ ตำบลและ หมู่บ้านใหม่ นายชม วัลลิภากร ซึ่งดำรงตำแหน่งนายอำเภอขณะนั้นขอโอนท้องที่ตำบลทองหลางไปขึ้นกับอำเภอท่า ช้าง ส่วนหนึ่ง อำเภอเมืองนครราชสีมาอีกส่วนหนึ่ง  และยุบตำบลเสลากับตำบลโนนวัดรวมเป็นตำบลพลสงคราม พร้อมทั้งได้เปลี่ยนชื่ออำเภอเดิมเสียใหม่ จากอำเภอโนนวัด เป็นอำเภอโนนสูง เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพท้องที่ซึ่งเป็นที่ราบสูงหรือโนนสูง และใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน
          พ.ศ.๒๔๔๙ สร้างศาลาการเปรียญหลังแรกของวัดหนองหว้า  โดยการนำของ พระอาจารย์คง เสร็จเป็นที่เรียบร้อย (ปัจจุบันได้ถูกรื้อถอนและสร้างใหม่แล้ว..)
          พ. ศ. (ไม่ปรากฏชัด) เริ่มโครงการสร้างอุโบสถหลังแรกของวัดหนองหว้า โดยมี พระครูวิสุทธิพรต เป็นผู้นำก่อสร้างในครั้งนั้น และได้ใช้ประโยชน์จากอุโบสถหลังนี้มาเป็นเวลานานนับ ๘๐ ปี เป็นที่สงฆ์ได้ทำสังฆกรรมร่วมกัน เช่น ฟังพระปาฎิโมกข์, อุปสมบท, ปริวาสกรรม, งานกฐิน, เป็นต้น และได้รับการทำนุบำรุงรักษามาเป็นอย่างดี (ปัจจุบันถูกรื้อถอนและสร้างใหม่แล้ว)


การก่อสร้างยุคที่ ๒
          วัดหนองหว้า เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสมัยเจ้าอาวาสรูปที่ ๖ คือ พระบุญส่ง  วิสารโท (ปัจจุบันคือ พระครูวิสารวรกิจ) : ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดหนองหว้าเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๒
          เมื่อ ท่านมาเป็นเจ้าอาวาสวัดหนองหว้า มีการพัฒนาวัดหลายด้าน ทั้งด้านการศึกษาและด้านถาวรวัตถุ ด้านการศึกษานั้นมีการส่งเสริมและส่งพระภิกษุสามเณรที่เรียนดีไปศึกษาต่อยัง สถานที่ต่างๆ จนได้เป็นพระมหาเปรียญหลายรูป เช่น
          พระมหาเจียม  ชยมงฺคโล (ปธ.๙ วัดเบญจมบพิตร)
          พระครูสาทรปริยัติคุณ  (ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเสมียนนารี บางเขน กรุงเทพฯ)
          ฯลฯ

          งานสาธารณูปการ
          ด้าน วัตถุนั้น มีการชักชวนและนำในการก่อสร้างสิ่งที่เห็นว่าสำคัญต่อวัดหลายอย่างด้วยกัน และมีหลายท่านที่ให้ความอุปถัมภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งญาติโยมชาววัดหนองหว้า มีส่วนในการช่วยมากมาย โดยการนำกฐิน ผ้าป่ามาทอดถวาย และมีบางท่านมาช่วยในงานประจำปี จึงทำให้วัดหนองหว้าเจริญทั้งด้านวัตถุและบุคลากร

          พ.ศ.๒๕๑๗
          วันพฤหัสบดี ที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๔ วางศิลาฤกษ์ก่อสร้างกุฏิหลังใหญ่ ๒ ชั้น ทรงไทย ๑๒x๔๐ เมตร สำเร็จด้วยปูนทั้งหลัง ชั้นล่างขัดหินอ่อน เป็นที่สวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็นของพระภิกษุ/สามเณร อีกส่วนหนึ่งแบ่งเป็นสำนักงานเจ้าคณะอำเภอโนนสูง มีห้องนอนและห้องน้ำในตัว ชั้นที่ ๒ พื้นชั้นบนปูด้วยไม้ เป็นที่พักของพระภิกษุ/สามเณรจำนวน ๒๑ ห้อง

          พ.ศ.๒๕๓๔
          วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ วางศิลาฤกษ์ก่อสร้างศาลาการเปรียญ ๓ ชั้น ใต้ดิน ๑ ชั้น ๑๒x๔๐ เมตร ชั้นใต้ดินเป็นที่เก็บเก้าอี้ที่ใช้ในการสอบนักธรรมและธรรมศึกษาในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี รวมทั้งโต๊ะเก้าอี้อื่นๆ
          ชั้นที่ ๑ เป็นที่บำเพ็ญกุศลและเป็นที่ประชุมงานทั้งของคณะสงฆ์และทางราชการ อีกทั้งยังเป็นที่อบรมศีลธรรมของนักเรียนประจำอำเภอโนนสูง
          ชั้น ที่ ๒ เป็นที่เรียนของพระภิกษุและนักเรียนชั้นตรี โท เอก ของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวัดอาทิตย์ รวมถึงศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนประจำตำบลด่านคล้า
          ชั้นที่ ๓ เป็นที่พัก มีห้องน้ำในตัว

          พ.ศ.๒๕๓๖
          นางทองมี ดร.มังกร-ดร.ประภา ภักดิ์โพธิ์ พร้อมบุตรธิดาและญาติๆ สร้างเจดีย์หอระฆัง บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

          พ.ศ. ๒๕๔๒
          วัน ศุกร์ ที่ ๑ มกราคม ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๒ ปีเถาะ โดยการนำของพระครูวิสารวรกิจ ร่วมกับอุบาสก-อุบาสิกาชาววัดหนองหว้า วางศิลาฤกษ์อุโบสถหลังใหม่ ปัจจุบันสำเร็จเป็นที่เรียบร้อย
          ผูกสีมาฝังลูกนิมิต วันที่ ๗ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๐


ถาวรวัตถุ
     ๑. อุโบสถ

     ๒. กุฏีสงฆ์
          วันพฤหัสบดี ที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๗ (ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๔ ปีขาล) วางศิลาฤกษ์ก่อสร้างกุฏิหลังใหญ่ ๒ ชั้น ทรงไทย กว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๔๐ เมตร สำเร็จด้วยปูนทั้งหลัง
          "กุฎิ หรือ กุฎี (อ่านว่า กุด หรือ กุดติ) แปลว่า กระต๊อบ, กระท่อม, โรงนา ใช้ว่า กุฏี ก็ได้ เรียกเพี้ยนไปว่ากฏิ ก็มี (กฏิ แปลว่า สะเอว) หมายถึงอาคารที่เป็นโรงเรือนหรือตึกอันเป็นที่อยู่พำนักอาศัยของภิกษุสามเณร ใช้เป็นศัพท์เฉพาะในพระพุทธศาสนา
          กุฏิแยกกันเป็นหลัง ๆ อยู่รวมกันหลาย ๆ หลัง เช่น กุฏิเรือนไทย เรียกว่า กุฏิหมู่ หรือ หมู่กุฏิ บางแห่งสร้างเป็นหลายชั้นและหลายห้อง เรียกว่า กุฏิแถว
          สำหรับกุฏิที่ประทับของพระพุทธเจ้ามีชื่อเรียกเป็นพิเศษว่า พระคันธกุฎี เพราะมีกลิ่นหอมอยู่ตลอดเวลา"

     ชั้นที่ ๑ ยกสูงจากพื้นดินประมาณ ๑ เมตร พื้นขัดหินอ่อน มีทางขึ้นลง ๔ ทาง ทิศตะวันออก ตะวันตก และมุขด้านหน้า หน้าต่างเป็นไม้ชั้นในเป็นเหล็กดัด จำนวน ๔๐ บาน มีห้องต่างๆ ประกอบด้วย
          ๑. ห้องโถงกลาง : เป็นที่ทำวัตรสวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็นของพระภิกษุ
          ๒. ห้องเจ้าอาวาส : เป็นที่พักผ่อนของหลวงพ่อเจ้าอาวาส มีห้องน้ำในตัว พร้อมที่ทำงาน
          ๓. สำนักงานเจ้าคณะอำเภอ : เป็นที่ทำงานของคณะสงฆ์อำเภอโนนสูง ประกอบด้วย ๓ ห้อง มีห้องน้ำในตัว อุปกรณ์สำนักงาน เอกสาร พิมพ์ดีด คอมพิวเตอร์ ฯลฯ
          ๔. ห้องเลขานุการเจ้าคณะตำบล : เป็นห้องพักส่วนตัวของพระเลขานุการเจ้าคณะตำบลด่านคล้าประกอบด้วย ๒ ห้อง มีห้องน้ำพร้อม และอุปกรณ์จัดเตรียมงาน สถานที่ ผ้าผูก แก้ว ถ้วยกระเบื้อง ฯลฯ
          ๕. ห้องคลังสงฆ์ : เป็นสถานที่เก็บของกลางสงฆ์ อัฐบริขารต่างๆ พร้อมทั้งเครื่องอุปโภคบริโภค ประกอบด้วย ๓ ห้อง
          ๖. ห้องพัก : เป็นห้องนอนจำนวน ๓ ห้อง ทิศตะวันออก ๑ ห้อง เป็นห้องพักพระอาคันตุกะ และทิศตะวันตก ๒ ห้อง
          ๗. ห้องน้ำ : มีห้องน้ำจำนวน ๔ ห้อง ทิศตะวันออก ๒ ห้อง ทิศตะวันตก ๒ ห้อง เป็นห้องน้ำส่วนร่วม โดยมากใช้เฉพาะกลางคืน
          ๘. มุมอ่านหนังสือ : เป็นที่รวมหนังสือเช่น พระไตรปิฎก หนังสือมนต์พิธี หนังสือธรรมของคณาจารย์ต่างๆ บทความทางวารสาร หนังสือพิมพ์ ฯลฯ

     ชั้นที่ ๒ พื้นชั้นบนปูด้วยไม้ เป็นที่พักของพระภิกษุ/สามเณรจำนวน ๒๑ ห้อง



          ๓. ศาลาการเปรียญ








          ๔. ศาลาฌาปนสถาน / เมรุ
          วัดหนองหว้า ได้ดำเนินการสร้างศาลาฌาปนสถาน ขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๕๑๓ ในสมัย พระอธิการบุญส่ง  วิสารโท (ปัจจุบันคือ พระครูวิสารวรกิจ : เจ้าคณะอำเภอโนนสูง) แต่เดิมนั้น ได้ใช้ศาลาการเปรียญหลังเก่า (ปัจจุบันได้รื้อถอนแล้ว) เป็นที่พักศพชั่วคราว ศาลาฌาปนสถานหลังแรกเป็นอาคารไม้หลังคามุงสังกระสี เสา ๖ ต้น กว้าง ๔ เมตร ยาว ๖ เมตร สูง ๓ เมตร พื้นคอนกรีตไม่เสริมเหล็ก ฝาผนังปล่อยโล่ง ตั้งอยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบริเวณวัด เรียกชื่อในสมัยนั้นว่า "ศาลาสามัคคีธรรม" มีรายนามผู้ร่วมก่อสร้างที่ยังพอรวบรวมได้ คือ ๑.นางไช๊เอง  แซ่เตียว  ๒.นายบัญชา-นางยง  ธีรวงศ์ไพศาล  ๓.นายเข็ม-นางแจ้  คุยแก้วพะเนา  ๔.นายโง่วเซ็ง-นางทองอยู่  ธีรพงศ์ไพศาล
          ซึ่งปัจจุบัน  (พ.ศ.๒๕๕๔) ยังคงสภาพสภาพเดิมไว้ (เก่าเหมือนเดิม)

          ศาลาฌาปนสถานยุคที่ ๒ (พ.ศ.๒๕๓๖)          สร้างขึ้นเพื่อรองรับการขยายของหมู่บ้าน ที่อยู่ในเขตบริการของวัดหนอง้าถึง ๙ หมู่บ้าน ประกอบด้วยอาคาร ๔ หลัง
          หลังแรก เริ่มก่อสร้างปี พ.ศ.๒๕๓๖ แล้วเสร็จ พ.ศ.๒๕๓๖  เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ๑ ชั้น พื้นเทคอนกรีตขัดมัน หลังคามุงกระเบื้องสีเหลือง (ทุกวันนี้สียังสด.....สงสัย..สีทนได้) ฝาผนังคอนกรีต ๒ ด้าน มีหน้าต่างทำด้วยไม้ ๒๐ บาน ประตูเหล็ก ๕ ประตู (เริ่มชำรุด....นานแล้ว)  มีความกว้าง ๘ เมตร ยาว ๒๐ เมตร มีอาสน์สงฆ์ที่ทำด้วยไม้ สูง ๙๐ ซม. ยาวตลอดอาคาร ด้านล่างสามารถเปิด-ปิดเก็บวัสดุสิ่งของได้ด้วย
          หลังที่ ๒ เริ่มก่อสร้างปี พ.ศ............แล้วเสร็จ พ.ศ.............  เป็นอาคารไม้และปูน ๑ ชั้น พื้นเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ใต้พื้นเป็นที่กักเก็บน้ำฝนขาน ๖ ห้อง ลึก ๑ เมตร หลังคาสังกระสี มีห้องเก็บวัสดถอุปกรณ์ จำนวน ๓ ห้อง (อุปกรณ์ที่ใช้ในงานศพ ...รวมถึงโลงด้วย) ด้านหลังต่อเพิง (แบบหมาแหงน) ทำเป็นโรงครัว เพื่อทำอาหารเลี้ยงญาติพี่น้องที่มาช่วยในงานฌาปนกิจศพ และมีห้องน้ำขนาดเล็ก ๒ ห้อง
          หลังที่ ๓ เริ่มก่อสร้างปี พ.ศ............แล้วเสร็จ พ.ศ.............  เป็นอาคารไม้ ๑ ชั้น เสาไม้จำนวน ๓๒ ต้น พื้นเทคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังด้านตะวันออกเป็นสังกระสี ส่วนทิศตะวันตกเป็นกระเบื้อง (ใบมะขามร่วงใส่ทำให้สังกระสีผุ จึงต้องเปลี่ยนเป็นกระเบื้องครับ..) เป็นอาคารปล่อยโล่ง มีกั้นผนังด้านทิศใต้เพียง ๔ ห้อง ใต้ผ่าที่กั้นคือที่เก็นน้ำขนาด ๔ ห้อง ลึก ๑ เมตร ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนแทนอาคารหลังที่ ๑ ตั้งแต่ปี ๒๕๕๓-ปัจจุบัน (รออาคารหลังใหม่....ยุคที่ ๓)
          หลังที่ ๔ เริ่มก่อสร้างปี พ.ศ............แล้วเสร็จ พ.ศ.............  เป็นศาลาโล่ง ๑ ชั้น เสา ๘ ต้น เครื่องเรือนทำด้วยไม้ ตีฝ้าเพดาน หลังคามุงกระเบื้องสีเขียว พื้นเทปูน ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่หน้าเมรุ ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับประธานฝ่ายสงฆ์-ประธานฝ่ายฆราวาสและผู้มีเกียรติขึ้ทอกผ้าบังสุกุล

          ศาลาฌาปนสถานยุคที่ ๓ (พ.ศ.๒๕๕๓)
          เริ่มก่อสร้างปี พ.ศ.๒๕๕๓ แล้วเสร็จ พ.ศ............ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ถัดจากศาลฌาปนสถานยุคที่ ๒ ประมาณ ๑๐ เมตร เป็นอาคารคอนกรีต โครงทำจากเหล็กคุณภาพดีไร้สนิม ความกว้าง ๑๖ เมตร  ยาว ๔๔ เมตร สูงจากพื้นถึงฝ้าเพดาน ๖ เมตร ฝาผนังกั้นทึบทิศตะวันตก ทิศเหนือฝาผนังกั้นประดับด้วยหน้าต่างจำนวน ๕๐ บาน ทิศตะวันออกเป็นห้องโถง มี ๒ ชั้น หลังคาเป็นสังกระสีมุงยกระดับ ๒ ชั้น สีแดงเข้ม ฝ้าเพดานด้านนอกทำจากเศษไม้ เพราะเรามุ่งเน้นความประหยัด (...หรือ..เราหมด งบ..?  ) สวยครับ ถ้าหากมาวัดหนองหว้าก็อยากให้ไปแหงนคอสัก ๔๕ องศา ดูซิว่าเป็นจริงอย่างว่ารึปล่าว..
          ปัจจุบันกำลังดำเนินการก่อสร้าง ใกล้ความเป็นจริงแล้ว....คาดว่าจะแล้วเสร็จในกลางปี พ.ศ.๒๕๕๔ นี้
          ช่างผู้รับเหมาก่อสร้าง ชื่อ นายบุญส่ง

     สาระเพิ่มเติม
           สุสานและฌาปนสถานสาธารณะ           สุสานและฌาปนสถานสาธารณะ หมายความว่า สถานที่ที่จัดไว้สำหรับเก็บ ฝัง หรือเผาศพสำหรับประชาชนทั่วไป แต่ไม่รวมถึงสถานที่ที่ใช้สำหรับเก็บศพชั่วคราวในสถานพยาบาล ตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล
           พ.ร.บ. สุสานและฌาปนสถาน พ.ศ.๒๕๒๘ แบ่งสุสานและฌาปนสถานแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ
           ๑. สุสานและฌาปนสถานาสาธารณะ เป็นสถานที่สำหรับเก็บ ฝัง เผา สำหรับประชาชนทั่วไป
           ๒. สุสานและฌาปนสถานเอกชน เป็นสถานที่ เก็บ ฝัง หรือเผาศพ สำหรับตระกูลหรือครอบครัวทั้ง ๒ ประเภทต้องขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นซึ่งหมายถึง
                    - ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือ ผอ.เขต หรือผู้ช่วย ผอ.เขต ซึ่งผู้ว่าฯมอบหมาย สำหรับในเขต กทม.
                    - ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอ หรือ ปลัดฯประจำกิ่งอำเภอ ซึ่ง ผวจ.มอบหมายสำหรับเขตจังหวัดซึ่งอยู่นอกเขตเทศบาล
                    - นายกเทศมนตรี หรือพนักงานเทศบาล ซึ่งนายกฯ มอบหมายในเขตเทศบาล
                    - ปลัดเมืองพัทยา หรือพนักงานเมืองพัทยา ซึ่งปลัดเมืองพัทยามอบหมายในเขตเมืองพัทยา
          ขอขอบคุณข้อมูลสาระเพิ่มเติมจาก : คลังปัญญาไทย




          ๕. ห้องสมุด
          ๖. หอระฆัง
          ๗. ห้องน้ำ
          ๘. โรงครัว
          ๙. เตาเผาขยะ

เจ้าอาวาส
     ลำดับเจ้าอาวาส / รักษาการแทนเจ้าอาวาส  : เริ่มแรกจนถึงปัจจุบัน มีดังนี้
         ๑. พระอาจารย์มุด
         ๒. พระอาจารย์คง
         ๓. พระอาจารย์ฮวด
         ๔. พระอาจารย์อินทร์
         ๕. พระอาจารย์ออด
         ๖. พระครูวิสารวรกิจ (บุญส่ง วิสารโท)

พระภิกษุ/สามเณร : จำพรรษา ปี ๒๕๕๔
    ปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๕๔) วัดหนองหว้ามีพระภิกษุประจำวัด ๑๕ รูป สามเณร   -   รูป ดังนี้
          ๑.พระครูวิสารวารกิจ             เจ้าอาวาส
          ๒.พระครรชิต  อภิปญฺโญ      ฝ่ายซ่อมบำรุง
          ๓.พระปลัดสหัส  ปิติสาโร     เลขานุการเจ้าคณะอำเภอ / ครูสอนพระปริยัติธรรม / ฝ่ายข้อมูล
          ๔.พระเสนาะ  อนาลโย         เลขาฯ เจ้าคณะตำบลด่านคล้า/ครูสอนพระปริยัติธรรม
          ๕.พระสมเทียม  สจฺจวโร       ครูสอนพระปริยัติธรรม
          ๖.พระเขียน  กนฺตสาโร          ฝ่ายปรับปรุงทัศนียภาพ
          ๗.พระสุพิสิษฐ์  ผาสุกาโม
          ๘.พระเด่นชัย  สุภาจาโร        ฝ่ายครุและลหุภัณฑ์
          ๙.พระชม  จิตฺตปญฺโญ           ฝ่ายประชาสัมพันธ์
          ๑๐.พระบัวลอง  วรปญฺโญ      ฝ่ายเครื่องเสียง
          ๑๑.พระธีรสิทธิ์  ธีรสทฺโธ
          ๑๒.พระสมฤกษ์  มหิสฺสโร
          ๑๓.พระวิสา  ธมฺมจารี            ฝ่ายซ่อมบำรุง
          ๑๔.พระยุทธนา  เขมวโร
          ๑๕.พระอภิชาติ  ฐิติชาโต
   



                            
ติดต่อสอบถาม
วัดหนองหว้า เลขที่ ๑๓๓ หมู่ ๕ ตำบลด่านคล้า อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา
โทรศัพท์ ๐๘ - ๑๙๗๗ - ๑๒๖๙ (พระครูวิสารวรกิจ)
E-Mail : s-hathcore@hotmail.com

  © ขอขอบคุณ Blogger template 'Ultimatum' by s-hatcore ๒๕๕๐ : s-hatcore

กลับขึ้นข้างบน : Back to TOP