วันพุธที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สรุปจริยศาสตร์แนวพุทธ


สรุปจริยศาสตร์แนวพุทธ

รายวิชาจริยศาสตร์วิเคราะห์
หลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาปรัชญา


๑. ความนำ
          จริยศาสตร์ (Ethics) เป็นสาขาหนึ่งของคุณวิทยา (Axiology) หรือทฤษฎีคุณค่า (Theory of values) คณะอนุกรรมการบัญญัติศัพท์ปรัชญา ได้บัญญัติอรรฆวิทยาแทน Axiology แต่ปรากฏว่า คำว่า “อรรฆวิทยา” ไม่ได้รับความนิยมเท่ากับคุณวิทยา กระนั้นคุณวิทยายังมีอีก ๒ สาขาย่อยคือ ตรรกศาสตร์ (Logic) และสุนทรียศาสตร์ (Aesthetics) ศาสตร์ทั้ง ๓ นี้เป็นศาสตร์แห่งการแสวงหาคุณค่าอันเป็นคุณค่าพื้นฐานของมนุษย์ ๓ ประการด้วยกัน คือ ความดี (Good), ความจริง (Truth) และความงาม (Beauty) ตามลำดับ
          คำว่า "จริยธรรม" นั้นมีผู้ให้ความหมายไว้หลายท่าน ซึ่งสรุปได้ดังนี้ คือ จริยธรรม หมายถึง แนวทางในการประพฤติตนที่ดีงามเหมาะสม เพื่อให้สมาชิกในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข เป็นความหมายที่สอดคล้องกับพระพุทธศาสนา ดังคำว่า "ธมฺมสฺส จริยา ธมมา วา อนเปตา จริยา ธมฺมจริยา" แปลว่า "ความประพฤติที่เหมาะสม หรือความประพฤติที่ไม่ปราศจากธรรม เรียกว่า ธรรมจริยา" (มังคลัตถทีปนี ภาค ๒ ฉบับบาลี, ๒๕๓๖: ๔๗) เมื่อกล่าวในแง่ของพุทธศาสนา เรียกว่า พุทธจริยธรรม ตามทรรศนะของพุทธศาสนา พุทธจริยธรรมนั้นนอกจากจะเป็นหลักของการดำเนินชีวิตแล้ว ยังเป็นวิธีการแก้ปัญหาด้วย


๒. ลักษณะจริยศาสตร์แนวพุทธ
           ลักษณะและขอบเขตและเนื้อหาของพระพุทธจริยธรรมนั้นแบ่งได้ออกเป็น ๒ส่วน คือ ส่วนที่เป็นอภิปรัชญาที่กล่าวถึงความจริงของจักรวาล ของโลกและสรรพสิ่งและมนุษย์ อาจกล่าวได้ว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประเภทจิตนิยม (Idealism) ในแง่ที่ว่า มนุษย์มีองค์ประกอบที่สำคัญ ๒ ส่วนคือ กาย กับจิต และถือว่าจิตเป็นเรื่องสำคัญ
          พุทธจริยธรรมจึงเป็นหลักการหรือแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ดี ประเสริฐ อันเป็นวิธีการ หรือเครื่องมือในการสู่จุดมุ่งหมายอันเป็นประโยชน์สูงสุด เป็นอุดมคติของชีวิต ครอบคลุมถึงเกณฑ์ตัดสินว่า การกระทำใดดีหรือไม่ดี ควรหรือไม่ควร ด้วยเหตุนี้พุทธจริยธรรมจึงมีลักษณะที่แตกต่างจากทรรศนะของปรัชญาในสำนักอื่น ๆ คือ พุทธจริยธรรมไม่ได้เกิดจากโต้แย้งทางความคิด (Argument) การนิยามความหมาย การคาดคะเน หรือการพิจารณาเทียบเคียง เหมือนปรัชญาสำนักอื่น ๆ แต่พุทธจริยธรรมมีธรรมชาติของความเป็นจริง เป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติแล้วสามารถเห็นได้ด้วยตัวของตนเอง (สนฺทิฏฺฐิโก) ไม่จำกัดเวลา (อกาลิโก) ซึ่งเป็นผลของการตรัสรู้ธรรมอันยอดเยี่ยมของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่า "อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ" ซึ่งแยกได้เป็น ๒ ส่วนคือ ส่วนที่เป็นสัจธรรมและส่วนที่เป็นศีลธรรม พระธรรมปิฏก (ป.อ.ปยุตฺโต) (๒๕๔๒: ๖)


๓. ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับพุทธจริยศาสตร์
          ตามทรรศนะของพระพุทธศาสนา  จริยศาสตร์มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับญาณวิทยา  นั้นก็คือความสมบูรณ์ทางจริยะและความรู้มีความจำเป็นต่อกันและกัน ในอัคคัญญสูตร แสดงว่า  ในหมู่เทวดาและมนุษย์  ผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้ (วิชชา) และความประพฤติ (จรณะ) เป็นผู้ประเสริฐสุด (วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโ? เทวมานุเส)  ดังนั้น   ทั้งความสมบูรณ์ทางจริยะและความรู้จึงเป็นสองด้านของความสมบูรณ์ที่แยกกันไม่ได้
          นอกจากนั้น จริยศาสตร์ของพระพุทธศาสนายังสัมพันธ์กับปรัชญาสังคม (Social Philosophy) ด้วย  นั้นก็คือการพยายามตอบปัญหาที่ว่าเราควรทำอะไร? ปัญหานี้เป็นทั้งเรื่องส่วนบุคคลและเรื่องของสังคม  คำตอบสำหรับปัญหานี้ก็เกี่ยวโยงไปถึงปัญหาที่ว่า เป้าหมายของชีวิตควรจะเป็นอย่างไรหรือว่าคืออะไร?  และปัญหาที่ว่าเพื่อแก้ไขตนเองให้ดีขึ้น  เพื่อการรู้แจ้งตนเองและเพื่อบรรลุถึงความดีสูงสุด  เราจะต้องปฏิบัติอย่างไร? นี้เป็นปัญหาส่วนบุคคล แต่ก็มีปัญหาเกี่ยวกับสังคมด้วย  นั้นก็คือเราควรทำอะไรเพื่อความดีของสังคมหรือเพื่อประโยชน์สุขของมนุษยชาติ  แต่ปัญหาทั้งสองนี้ คือปัญหาส่วนบุคคลกับส่วนสังคมก็เกี่ยวข้องกัน


๔. เกณฑ์ตัดสินจริยศาสตร์แนวพุทธ
          ต่อไปนี้จะเป็นการศึกษาปัญหาเกณฑ์ตัดสินพุทธจริยธรรม คือ ปัญหาที่ว่า การกระทำที่มีคุณค่าทางจริยะที่ว่า การกระทำที่เรียกว่า ดี ถูก ผิด หรือควร ไม่ควร เป็นอย่างไร และมีอะไรเป็นเกณฑ์ในการตัดสินในการกระทำนั้นว่า ดี ถูก ผิด หรือควร ไม่ควร
          หลักจริยธรรมในระบบพุทธจริยศาสตร์นั้น เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่ามี ๒ อย่างคือ สัจธรรม และศีลธรรม สัจธรรมเป็นอันติมสัจจะ กล่าวคือ เป็นความจริงสูงสุดอันเป็นฐานรองรับหลักศีลธรรม และหลักจริยธรรม หรือการกระทำอันมีค่าทางพุทธจริยศาสตร์ที่ดำเนินไปถึงเพื่อเข้าถึงเป้าหมายอันเป็นอันติมสัจจะนั้น เป็นสิ่งที่มีอยู่เอง มีอยู่อย่างเที่ยงแท้ และสามารถดำรงอยู่ได้โดยธรรมดา ถ้ามนุษย์ไม่มีเป้าหมายในการกระทำ ก็ไม่สามารถกล่าวได้ว่า การกระทำใดถูก หรือผิด เพราะฉะนั้น เกณฑ์ในการตัดสินค่าจริยะว่า สิ่งนี้ถูก ผิด ควร ไม่ควร จึงต้องอาศัยเป้าหมายเป็นแนว ในขั้นนี้ ผู้วิจัยจะศึกษาวิเคราะห์ปัญหาที่ว่า มาตรการวัดและตัดสินคุณค่าทางจริยะเหล่านี้ ในทางพุทธจริยศาสตร์คืออะไร และมีอะไรบ้าง นี้เป็นปัญหาที่จะต้องศึกษาต่อไป

          ความหมายของความดีและความชั่ว
          ความดี ตรงกับศัพท์ภาษาบาลีว่า บุญและกุศล ส่วนความชั่วตรงกับภาษาบาลีว่า บาปและอกุศล ในทางธรรม  กุศลมีความหมาย ๔ ประการ  คือ
          ๑. อาโรคยะ ความไม่มีโรค หมายถึง จิตที่มีสุขภาพดี  ไม่ถูกบีบคั้น ไม่กระสับกระส่าย ใช้งานได้ดี
          ๒. อนวัชชะ ไม่มีโทษ หรือไร้ตำหนิ หมายถึง ไม่มัวหมอง ไม่ขุ่นมัว สะอาด
          ๓. โกศลสัมภูต เกิดจากปัญญา หรือเกิดจากความฉลาด  หมายถึง ภาวะที่จิตประกอบอยู่ด้วยปัญญา มองเห็นหรือรู้เท่าทันความเป็นจริง
          ๔. สุขวิบาก มีสุขเป็นผล หมายถึง เป็นสภาพที่ทำให้มีความสุข
          ส่วนอกุศลมีความหมายตรงกันข้าม คือ เป็นสภาพจิตที่มีโรค มีโทษ เกิดจากอวิชชา และมีทุกข์เป็นผล
          ในพระพุทธศาสนากล่าวการกระทำของมนุษย์ไว้ ๓ ทางคือ ทางกาย เรียกว่า กายกรรม ทางวาจา เรียกว่า วจีกรรม และทางใจ เรียกว่า มโนกรรม การกระทำจะดีหรือชั่วอยู่ที่ ๓ ทางนี้ ถ้าการกระทำนั้นเป็นฝ่ายดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ เรียกว่า กายสุจริต วจีสุจริตและมโนสุจริต กรรมฝ่ายดีนี้ เรียกว่า กุศลกรรม แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นการกระทำในฝ่ายชั่วทางทวารทั้ง ๓ นี้ เรียกว่า กายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต กรรมฝ่ายชั่วทั้ง ๓ นี้เรียกว่า อกุศลกรรม ส่วนปัญหาที่ว่า การกระทำของมนุษย์นั้น จะดีหรือชั่ว ใช้อะไรเป็นเกณฑ์วัด เป็นปัญหาที่จะต้องพิจารณากันต่อไป
          ตามแนวพุทธจริยศาสตร์นั้น ให้ถือเจตนาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินว่า การกระทำใด ดี หรือชั่ว ถูก หรือผิด เพราะการกระทำทั้งหมดของมนุษย์มีเจตนาเป็นตัวคอยบ่งชี้ เพราะฉะนั้นเจตนาจึงเป็นตัวแท้ของกรรม"บุคคลคิดแล้วจึงกระทำ กรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ" (องฺ.ฉกฺก.๒๒/๓๓๔/๓๖๕)
          เค.เอ็น. ชยติลเลเก (๒๕๓๔: ๓๖) ได้ให้ทัศนะในปัญหานี้ว่า พระพุทธศาสนาถือว่า การกระทำที่ถูกต้องและผิดนั้นจะต้องเป็นการ กระทำที่เป็นไปอย่างเสรี แต่เป็นเสรีภาพที่เกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับกฎของเหตุผล ตามทัศนะของพระพุทธศาสนา มีเงื่อนไขที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้การกระทำที่ถูกแตกต่างจากการกระทำที่ผิด นั่นคือแรงจูงใจและความตั้งใจหรือเจตนาที่บุคคลมีต่อการกระทำๆ
          โดยนัยนี้ กล่าวได้ว่า พระพุทธศาสนา เชื่อว่า มนุษย์มีเจตจำนงเสรีในการกระทำ ซึ่งเป็นเจตจำนงเสรีที่ความสัมพันธ์กันในเหตุผลเชิงจริยธรรม เพราะถ้ามนุษย์ไม่มีเจตน์จำนงเสรีในการกระทำ ก็จะไม่มีความชั่ว ถูก ผิด ควร หรือไม่ควร การกระทำก็เป็นแต่สักว่า ทำแล้ว กำลังทำ หรือทำอยู่เท่านั้น แต่มนุษย์มีเจตจำนงเสรีในการกระทำ และการกระทำทุกอย่างย่อมประกอบด้วยความจงใจหรือเจตนาเสมอ เพราะฉะนั้น ด้วยการกระทำที่ประกอบด้วยเจตนาหรือความจงใจนี้เอง พระพุทธศาสนาจึงกล่าวว่า ถ้าประกอบด้วยกุศล ก็จัดเป็นกุศลกรรม ถ้าประกอบด้วยอกุศล จัดว่าเป็นอกุศลกรรม


๕. อุดมคติสูงสุดของชีวิตมนุษย์
          ในทางจริยศาสตร์ ปัญหาที่สำคัญที่สุดคือ อุดมคติสูงสุด (Summum Bonum) ของชีวิตมนุษย์คืออะไร  พระพุทธศาสนามีทรรศนะอย่างไรต่อเรื่องนี้  พระพุทธศาสนาถือว่า นิพพาน ซึ่งมีลักษณะเป็นความสุขอันยอดเยี่ยม (บรมสุข) ความรู้แจ้ง (สัมโพธิ) และความหลุดพ้น (วิมุติ)  เป็นอุดมคติสูงสุดของชีวิตมนุษย์ ในขุททกนิกาย อิติวุตตกะ นิพพานมี ๒ อธิบายได้ดังนี้
          ๑.  สอุปาทิเสสนิพพาน  ดับกิเลสยังมีเบญจขันธ์เหลือ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กิเลสปรินิพพาน
          ๒.  อนุปาทิเสสนิพพาน  ดับกิเลสไม่มีเบญจขันธ์เหลือ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ขันธปรินิพพาน     ในอังคุตตรนิกาย นวกนิบาต นิพพานมี  ๒ เช่นกัน  อธิบายได้ดังนี้
          ๑.  สอุปาทิเสสนิพพาน  นิพพานของพระเสขะ คือพระโสดาบัน พระสกทาคามี   และพระอนาคามี
          ๒.  อนุปาทิเสสนิพพาน  นิพพานของพระอเสขะ คือพระอรหันต์
          มีบางคนตำหนิว่า การแสวงหานิพพานนั้นเป็นลักษณะของการหลบหนี  (Escapism) แต่การตำหนิดังกล่าวนี้  ขาดเหตุผลเพราะว่าผู้ที่ได้บรรลุนิพพานนั้นเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจดีในเรื่องธรรมชาติของโลกและธรรมชาติของตนเอง  ที่ผู้บรรลุนิพพานแล้วไม่ติดอยู่ในโลกียสุขอีกต่อไปนั้นก็เป็นเพราะว่า  ท่านได้ประเมินดูถึงคุณค่าและขอบเขตของโลกียสุขเหล่านั้นแล้ว คนที่เรียกได้ว่าเป็นพวกหลบหนีความจริง (Escapist)   นั้นคือพวกที่ไม่กล้าเผชิญกับความเป็นจริงทุกอย่าง แล้วก็พยายามทำลายความกลัว  ความทุกข์ใจและความเศร้าโศกของตนโดยการปล่อยตัวให้มัวเมาหมกมุ่นอยู่ในตัณหา  คนพวกนี้จะถูกเหตุการณ์ต่าง ๆ  ทำให้กลุ้มอกกลุ้มใจได้โดยง่าย  และก็มักจะประสบกับทางออกคือโรคประสาท  ไม่แบบใดก็แบบหนึ่งเท่านั้น  ส่วนผู้ที่จิตใจเข้าถึงนิพพานหรือแม้ใกล้ ๆ  นิพพานจะไม่สะทกสะท้านหวั่นไหวไปเพราะความขึ้น ๆ  ลง ๆ  ของโลก  ไม่เศร้าโศก  มีแต่ความเกษมสำราญ
          ส่วนวิธีปฏิบัติให้บรรลุถึงนิพพานก็คือ มรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ, สัมมาสังกัปปะ, สัมมาวาจา, สัมมากัมมันตะ, สัมมาอาชีวะ, สัมมาวายามะ, สัมมาสติ, สัมมาสมาธิ


๕. สรุป
          พุทธจริยศาสตร์นั้น อยู่ที่การกระทำทางกาย วาจา และใจ เป็นพื้นฐานให้เกิดคุณธรรมขั้นสูงๆ ขึ้นไปเท่านั้น เพราะจริยศาสตร์เป็นเป็นเรื่องที่ว่าด้วยคุณค่าของการกระทำที่มีค่าในระดับโลกิยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่อยู่ในขั้นปรมัตถ์หรือโลกุตรธรรม
          ๑. ระดับโลกิยธรรม เป็นเป้าหมายของชีวิตมนุษย์ในสภาวะที่สืบเนื่องอยู่ในโลกแห่งปรากฏการณ์ สามารถรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส เป้าหมายของชีวิตในระดับนี้จึงสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เพราะเป้าหมายในระดับนี้วัดจากรูปธรรมอันปรากฏให้เห็นเท่านั้น แต่มิได้หมายความว่า อุดมคติของชีวิตในระดับนี้จะเป็นสิ่งเลวร้าย ในทางตรงกันข้ามหากสร้างและดำเนินชีวิตตามอุดมคติที่วางไว้ได้อย่างถูกต้องตามกฎศีลธรรมแล้ว ชีวิตก็จะสมบูรณ์ในระดับหนึ่ง
          ๒. ระดับโลกุตรธรรม เป็นเป้าหมายของมนุษย์อันอยู่ในสภาวะที่พ้นจากโลก เป้าหมายในระดับนี้ไม่ได้สามารถวัดได้ด้วยวัตถุ สิ่งของ หรือประสาทสัมผัสทั้ง ๕ เพราะเป็นขั้นที่หลุดพ้นจากอำนาจกิเลสทั้งปวง เป็นเป้าหมายในระดับปรมัตถะ เป็นความสุขที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะอื่นใด อันได้แก่ พระนิพพาน


                                                
ใบงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษารายวิชาจริยศาสตร์วิเคราะห์
          ตามหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาปรัชญา
          ศูนย์บัณฑิตศึกษา  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครราชสีมา
          พุทธศักราช  ๒๕๕๔
s-hatcore : ๑๖/๐๘/๒๕๕๔

0 ความคิดเห็น:

  © ขอขอบคุณ Blogger template 'Ultimatum' by s-hatcore ๒๕๕๐ : s-hatcore

กลับขึ้นข้างบน : Back to TOP