วันพุธที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2553

คู่มือการปฏิบัติงานหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล (อปต.)


คู่มือการปฏิบัติงาน
หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล
ฝ่ายการศึกษาสงเคราะห์ กองพุทธศาสนศึกษา
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
พ.ศ. ๒๕๔๖


บทที่ ๑
หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล
**********

แนะนำหน่วย อ.ป.ต.
          หน่วยงาน อ.ป.ต. เป็นชื่อย่อมาจากหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล เป็นความริเริ่มของคณะสงฆ์ ซึ่งมี เจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธรมหาเถร ป.ธ.๙) วัดสามพระยา กรุงเทพมหานคร เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง ได้ก่อตั้งขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์หลัก ๔ ประการ คือ
          ๑. เพื่อสงเคราะห์และอนุเคราะห์ประชาชนในท้องถิ่น โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในตำบลที่หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลตั้งอยู่ ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้ช่วยเหลือตนเองได้และพัฒนาตนเองไปในทิศทางที่ถูกต้องตามสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นนั้น ๆ
          ๒. เพื่อเป็นศูนย์กลางประสานงานระหว่างวัด บ้าน และหน่วยงานในการที่จะร่วมกันพัฒนาท้องถิ่นให้เจริญก้าวหน้าในทุก ด้าน เช่น
          - ช่วยกันพัฒนาหมู่บ้านให้มีความเจริญก้าวหน้าตามสภาพแวดล้อมของท้องถิ่น นั้น ๆ ซึ่งจะทำให้ประชาชนไม่ต้องอพยพย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่นหรือไปขายแรงงานที่อื่น
          - ช่วยกันพัฒนาท้องถิ่นให้มีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับภูมิปัญญาของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วยกันปลูกจิตสำนึกให้ทุกคนมีศีลธรรม ซึ่งจะเป็นรากฐานในการพัฒนาด้านอื่นๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
          - ช่วยกันพัฒนาอาชีพโดยเฉพาะอาชีพที่ถูกต้องตามกฎหมายที่เราเรียกกันว่าสัมมาชีพ ทั้งนี้เพื่อที่จะหารายได้มาพัฒนาครอบครัว หมู่บ้าน และสังคมที่ตนอาศัยอยู่โดยไม่เลือกงานหนักเอาเบาสู้ยึดคติว่า คนขยันย่อมหาทรัพย์ได้
          ๓. เพื่อเป็นศูนย์รวมความคิดของประชาชนทุกหมู่เหล่า กล่าวคือ ใครมีความคิดอะไรที่เป็นประโยชน์สร้างสรรค์ที่จะนำมาพัฒนาหมู่บ้านให้เจริญรุ่งเรืองให้มาแสดงออกที่หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล เข้าทำนองที่ว่า ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ จะนำชาติให้เจริญ
          ๔. เพื่อเป็นศูนย์รวมพลังในการป้องกันหมู่บ้านให้เกิดสันติสุขช่วยกันปกป้องพิทักษ์รักษาชีวิต และทรัพย์สินของทุกคนในหมู่บ้านให้เกิดความปลอดภัยไม่ว่าจะเป็นโจรภัย อัคคีภัย อุทกภัย วาตภัย หรือภัยอื่นๆ ให้ทุกคนนอนตาหลับ เข้าทำนองว่า ถึงคราวมีทุกข์ ช่วยกันแก้ไข ถึงคราวสุขสบายก็ไม่ตกอยู่ในความประมาท
          ๕. เพื่อเป็นศูนย์รวมข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะข้อมูลข่าวสารของทางราชการจำเป็นจะต้องรับทราบอย่างทันท่วงทีตรงไปตรงมายุคนี้เป็นยุคข้อมูลข่าวสาร เรื่องราวต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ถ้าหากได้รับข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง จะทำให้เราเข้าใจสถานการณ์ของบ้านเมืองไม่ถูกต้องและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาไม่ถูกต้อง

          เพื่อให้วัตถุประสงค์หลักทั้ง ๕ ประการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล บังเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนอย่างแท้จริงหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลจำเป็นจะต้องปรับบทบาทของหน่วยให้มีความคล่องตัว โดยการจัดตั้งองค์กรในรูปของคณะกรรมการตามระเบียบว่าด้วยการตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล พุทธศักราช ๒๕๔๖
          หน่วยงานอบรมประชาชนประจำตำบลซึ่งปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๔๖) มีจำนวน ๕,๔๐๑ หน่วย ทั่วประเทศ บางหน่วยไม่สามารถจะดำเนินการตามวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้ได้เนื่องจากขาดปัจจัยหลายประการ เช่น บุคลากรและอุปกรณ์ที่จะมา สนับสนุนในการดำเนินงาน จึงเห็นควรประสานกับองค์กรและหน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ ในองค์การบริหารส่วนตำบล (อ.บ.ต.) ของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีเครือข่ายโยงใยทั่วประเทศ ช่วยวางแผนในการทำงานให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยกำหนดวัตถุประสงค์ในการพัฒนาด้านการศาสนา ดังนี้
         ๑.ประชาชนต้องได้รับการพัฒนาจิตใจให้เป็นคนดีมีคุณธรรมจริยธรรมเข้าใจและปฏิบัติตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาและสามารถดำรงชีวิต
ในสังคมปัจจุบันได้อย่างมีความสุข โดยมี การเผยแผ่หลักธรรมไปสู่ประชาชนในรูปแบบที่หลากหลายกว้างขวางและต่อเนื่อง
          ๒. การศึกษาของคณะสงฆ์ต้องยกระดับให้มีคุณภาพสูงขึ้นรวมทั้งขยายผลออกไปให้กว้างขวางทั่วถึงทุกวัด
          ๓. ศาสนสถานสำหรับพระพุทธศาสนา คือ วัดต้องได้รับการพัฒนาให้เป็นแกนนำไนการเผยแผ่หลักธรรมและให้เป็นศูนย์กลางของชุมชน สามารถสงเคราะห์เกื้อกูลชุมชนในทุกๆ ด้านที่ไม่ขัดต่อกฎหมายและพระธรรมวินัย
         ๔. ระดมสรรพกำลังจากศาสนิกชนและองค์กรทางพระพุทธศาสนาที่มีอยู่ให้มีส่วนร่วมทำนุบำรุงอุปถัมภ์ในกิจการพระศาสนาซึ่งถือเป็นภาระหน้าที่
ของพุทธศาสนิกชนทุกคนรวมทั้งการสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างองค์การทางพระพุทธศาสนาด้วยกันและองค์กรอื่นๆ เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งสันติภาพที่ยั่งยืน
          ๕. เร่งรัดพัฒนาการด้านบริหารงานพระพุทธศาสนาเพื่อนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของพระศาสนาและเพื่อให้บุคลากรทางพระศาสนาสามารถปฏิบัต
ิหน้าที่ได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ


การเผยแผ่หลักธรรมสู่ประชาชนของหน่วยงาน อ.ป.ต.          การส่งเสริมให้พระสงฆ์มีบทบาทในการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนไปสู่ประชาชนทุกเพศทุกวัยเพื่อให้ประชาชนสามารถนำหลักธรรมไปประยุกต์
ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้องตามกาลเทศะและหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลเหมาะสมกับเพศวัยขอแต่ละคนนั้น จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปนี้
          ๑. สนับสนุนให้พระภิกษุและผู้ที่ทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ได้รับการรับรองจากทางราชการและคณะสงฆ์ จัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาอบรมสั่งสอนคุณธรรมจริยธรรมให้แก่ เยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนอย่างทั่วถึง
          ๒. จัดทำแผนการเผยแผ่หลักธรรมให้เป็นระบบอย่างต่อเนื่องรวมทั้งสร้างเครือข่ายการดำเนินงานเผยแผ่หลักธรรมให้ครอบคลุมกลุ่มคนทุกระดับ
          ๓. ส่งเสริมให้สถาบันทางพระพุทธศาสนาและองค์กรที่เกี่ยวข้องภาครัฐและเอกชนมีบทบาทในการเผยแผ่หลักธรรมแก่เยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ครูอาจารย์ ข้าราชการ และประชาชนโดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต
          ๔. ส่งเสริมให้มีการจัดอบรมการฝึกสมาธิแก่เยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษาข้าราชการ และประชาชนอย่างต่อเนื่อง
          ๕. สนับสนุนให้นักวิชาการ องค์กร สถาบันต่างๆ ทางพระพุทธศาสนาจัดทำคู่มือและสื่อเกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรมออกเผยแผ่แก่ประชาชน
          ๖. จัดดำเนินการเผยแผ่หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาไปสู่ประชานเพื่อสร้างคุณธรรมและจริยธรรมในรูปแบบที่หลากหลายและเหมาะสมกับเพศและ
วัยของกลุ่มคนทุกระดับ
          ๗. ส่งเสริมให้มีการประกอบศาสนพิธีให้ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนาในโอกาสต่างๆ เช่น วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา


การพัฒนาศาสนสถานให้เป็นศูนย์กลางของชุมชนในการเผยแผ่หลักธรรม
          การพัฒนาวัดและศาสนสถานให้เหมาะสมกับเป็นสถานที่เผยแผ่หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาตามสนภาวะของสังคม และให้เป็นศูนย์กลางของชุมชนโดยจัดสภาพแวดล้อมภายในวัดและศาสนาสถานให้สะอาดร่มรื่น มีเสนาสนะที่สวยงามและทันสมัย มีวิธีการดำเนินการ ดังนี้
          ๑. พัฒนาและปรับปรุงวัดและศาสนาสถานให้มีความสะอาดร่มรื่น ถาวรและมั่นคง เหมาะสมกับเป็นศูนย์กลางของชุมชนในการประกอบศาสนกิจและการจัดกิจกรรมของท้องถิ่น ตลอดจนเป็นที่พักผ่อนจิตใจ และเป็นอุทยานทางการศึกษา
          ๒. สนับสนุนและส่งเสริมให้วัดและศาสนสถานเป็นศูนย์กลางชุมชนในท้องถิ่น และสนับสนุนให้ทางราชการใช้ศาสนสถานเป็นศูนย์กลางประชุมอบรมของท้องถิ่น
          ๓. สนับสนุนให้วัดและศาสนสถานทำหน้าที่เกื้อกูลสงเคราะห์ประชาชนในรูปแบบต่างๆ
          ๔. ให้การศึกษาและอบรมแก่พระสังฆาธิการและผู้นำทางศาสนาให้มีความรู้ในการบริหารจัดการวัดและศาสนสถานตามหลักการบริหารสมัยใหม่

          การระดมสรรพกำลังทำนุบำรุงอุปถัมภ์พระศาสนา
          โดยการเร่งรัดให้พุทธศาสนิกชนและองค์การทางศาสนาทั้งภาครัฐและเอกชนมีส่วนร่วมทำนุบำรุงอุปถัมภ์และพัฒนากิจการพระศาสนา โดยระดมสรรพกำลังตามกำลังตามความสามารถและความสนใจในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งสร้างสัมพันธภาพอันดีระหว่างวัด บ้าน และโรงเรียนเพื่อความสามัคคี และความมั่นคงภายในชุมชน
          - ส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนและองค์การอื่นๆ ในชุมชนทั้งภาครัฐและเอกชนทำหน้าที่ให้การทำนุบำรุงอุปถัมภ์และพัฒนาศาสนสถาน
          - สนับสนุนให้มีการระดมทุนและจัดตั้งกองทุกเพื่อกิจการพระพุทธศาสนา
          - ส่งเสริมและประสานงานให้มวลสมาชิกในองค์กรทุกระดับได้รู้จักและแลกเปลี่ยนทัศนคติซึ่งกันและกันตลอดจนได้ร่วมกันทำกิจกรรมที่เป็น
ประโยชน์ต่อสังคมการดำเนินงานหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้จะต้องมีการพัฒนาการบริหารงานด้านพระศาสนาให้มีประสิทธิภาพด้วยการเร่งรัดพัฒนาการบริหารงานด้านพระศาสนา ทุกระดับ สนับสนุนการบริหารการปกครองคณะสงฆ์และพัฒนาระบบสารสนเทศระบบการติดตามประเมินผลและการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ให้ทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ

          หลักธรรมสำหรับการพัฒนา
          หลักธรรมสำหรับใช้ในการพัฒนาท้องถิ่นให้เจริญรุ่งเรืองที่กล่าวไว้ในระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล พ.ศ. ๒๕๔๖ มีทั้งหมด ๘ ประการ ได้แก่
          ๑. ศีลธรรมและวัฒนธรรม
          ๒. สุขภาพอนามัย
          ๓. สัมมาชีพ
          ๔. สันติสุข
          ๕. ศึกษาสงเคราะห์
          ๖. สาธารณสงเคราะห์
          ๗. กตัญญูกตเวทีตาธรรม
          ๘. สามัคคีธรรม
          หน่วยงานอบรมประชาชนประจำตำบลแต่ละหน่วยสามารถนำหลักธรรมดังกล่าวไปปรับใช้ขยายผลถ่ายทอดไปสู่ประชาชนในท้องถิ่นเพื่อ
ให้ประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ เกิดความตื่นตัวในการที่จะร่วมมือกันพัฒนาหมู่บ้านของตน อันที่จริงหัวข้อธรรมที่จะใช้ในการพัฒนาท้องถิ่นมีใช่จะมีเพียง ๘ ประการ ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้เท่านั้นหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล หน่วยใดพิจารณาเห็นว่า ในท้องถิ่นประโยชน์แก่ชุมชนในท้องถิ่นของตน ก็สามารถจะเลือกดำเนินการได้ เพื่อให้เกิดความหลากหลาย
          ก่อนอื่นจะต้องทำความเข้าใจว่า หลักธรรมสำหรับใช้ในการพัฒนาจิตใจนั้นมีมากมายหลายประเภท บางอย่างเหมาะแก่คนทั่วไป เช่น ความไม่ประมาท ความเกลียดชั่วกลัวบาป การพึ่งตนเองความขยันเหมั่นเพียร เป็นต้น บางอย่างเหมาะสำหรับฆราวาสผู้ครองเรือน เช่น หน้าที่ของสามีภรรยาที่ควรปฏิบัติต่อกัน บางอย่างเหมาะสม เฉพาะนักบวช เช่น ความมักน้อย ความสันโดษ บางอย่างเหมาะแก่ผู้ต้องการมนุษย์สมบัติและสวรรค์สมบัติ บางอย่างเหมาะสม สำหรับผู้ต้องการนิพาพนสมบัติ บางอย่างเหมาะสมผู้มีอุปนิสัยหรือญาณบารมีแก่กล้าแล้ว เหล่านี้เป็นต้น ดังนั้น ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาจึงจำต้องรู้เรื่องนี้ มิฉะนั้น จะเข้าใจไขว้เขว เช่น ยารักษาโรค ผู้ใช้จะต้องรู้ว่ายาชนิดนี้ ไข้แก้โรคอย่างนี้ ยาชนิดนั้นใช้แก้โรคอย่างนั้น หรือยาชนิดนี้เป็นยาบำรุงกำลังร่างกายไม่ใช่รักษาโรค เมื่อเข้าใจอย่างนี้ จะได้ใช้ยาไม่ผิด
          นอกจากนี้ ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาจะต้องยอมรับก่อนว่า ตนมีความรู้ในวิชาพระพุทธศาสนามากน้อยเพียงไร ทั้งนี้เพื่อป้องกันความเข้าใจผิด เพราะมีบางคนพอเริ่มศึกษาก็ถามถึงพระนิพพานเลน พอฟังคำอธิบายไม่รู้เรื่องก็โทษคนอธิบาย โทษธรรมแทนที่จะ โทษตัวเองว่ามีความรู้น้อย บางคนเลยไม่ยอมศึกษาต่อ เพราะเข้าใจว่าพระพุทธศาสนาเข้าใจยาก เลยไม่สนใจ

          ภูมิปัญญาไทย
          แม้การพัฒนาที่ผ่านมาบางเรื่องอาจจะผิดพลาดก่อผลเสียในตำบลให้หมู่บ้านทำให้เกิดการสูญเสียทรัพยากร มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เกิดช่องว่างทางสังคม ทำให้สถาบันครอบครัวและสถาบันชุมชนอ่อนแอลงจนเกิดปัญหาด้านสังคม การแย่งชิงทรัพยากรและวิกฤตการณ์การพัฒนาหมู่บ้าน หลายหมู่บ้านได้เรียนรู้แผนใหม่เพื่อลดความรุนแรงของผลกระทบจากการพัฒนาที่ผิดพลาด หันมาสร้างสรรค์รูปแบบและวิธีการพัฒนาที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพภูมิศาสตร์และสังคมของชุมชนโดยอาศัยองค์ประกอบคือมรดกทางภูมิปัญญา
หรือความรู้ในชีวิตที่มีอยู่เดิมในชุมชนของท้องถิ่นนั้น ๆ เข้าร่วมกับแผนพัฒนาการสมัยใหม่เป็นกระบวนการถ่ายทอดทางภูมิปัญญา ประสานกับการเรียนรู้จากการปรับตัวของชาวบ้านโดยกระแสภูมิปัญญานี้ และเล็งเห็นว่าการพัฒนาที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญกับความรู้ภูมิปัญญาไทยน้อยกว่าความรู้ทางวิชาการแบบสากลของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
          ปัจจุบันบทบาทของภูมิปัญญาไทยในการพัฒนาสังคมเริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้นจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรชุมชน การศึกษาค้นคว้าและนำไปสู่การปฏิบัติของหน่วยงานต่างๆ มีมากขึ้น มูลเหตุที่ภูมิปัญญาไทมีบทบาทในหลายๆหน่วยงานและในการพัฒนาหลายๆ ด้าน เพราะภูมิปัญญาไทยมีความหลากหลายในวิถีชีวิตของคนในสังคมภูมิปัญญาไทยจึงเกี่ยวข้องกับสังคมโดยมี"คน"เป็นศูนย์กลางของความสัมพันธ์กับคนใน
สังคม สิ่งแวดล้อมและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทั้งนี้คนในสังคมเป็นผู้ทรงภูมิปัญญา เป็นผู้เรียนรู้ สืบทอด พัฒนา ถ่ายทอดและนำความรู้ภูมิปัญญามาพัฒนาวิถีชีวิตของคนในสังคมองค์ความรู้ที่คนในสังคมไทยยอมรับถือเป็นมรดกที่สืบทอดมาคู่กับประเทศไทยทั้งหมด
นี้เรียกว่า"ภูมิปัญญาไทย"

          สาขาภูมิปัญญาไทยที่ควรส่งเสริม
          ๑. สาขาเกษตรกรรมหมายถึงความสามารถในการผสมผสานองค์ความรู้ทักษะและเทคนิคด้านการเกษตรกับเทคโนโลยีโดยการพัฒนาบน
พื้นฐานคุณค่าดั่งเดิมซึ่งคนสามารถพึ่งพาตนเองในภาวการณ์ต่างๆ ได้ เช่น การทำเกษตรแบบผสมผสาน การแก้ปัญหาการเกษตรด้านการตลาด การแก้ปัญหาด้านการผลิตการแก้ไขโรคและแมลง และการรู้จักนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ไปใช้ได้อย่างเหมาะสมกับการเกษตรกรรม เป็นต้น
          ๒. สาขาอุตสาหรรมและหัตถกรรม (ด้านการผลิตและการบริโภค) หมายถึงการรู้จักประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการแปรรูปผลผลิตเพื่อชะลอการนำเข้าตลาด เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการบริโภคอย่างปลอดภัย ประหยัดและเป็นธรรม อันเป็นขบวนการให้ชุมชนในท้องถิ่นสามารถพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจได้ตลอดทั้งการผลิตและการจำหน่ายผลผลิตทางหัตถกรรม เช่น การรวมกลุ่มของกลุ่มโรงงานยางพารา กลุ่มโรงสี กลุ่มหัตถกรรม เป็นต้น
          ๓. สาขาการแพทย์แผนไทย หมายถึงความสามารถในการจัดการป้องกันและรักษาสุขภาพของคนในชุมชน โดยเน้นให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองทางด้านสุขภาพและอนามัยได้
          ๔. สาขาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หมายถึงความสามารถเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งการอนุรักษ์พัฒนา และใช้ประโยชน์จากคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน
          ๕.สาขากองทุนและธุรกิจชุมชน หมายถึงความสามารถในด้านบริหารจัดการด้านการสะสมและบริหารกองทุนและธุรกิจในชุมชนทั้งที่เป็นเงินตรา
และโภคทรัพย์เพื่อเสริมชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกในชุมชน
          ๖. สาขาสวัสดิการ หมายถึงความสามารถในการจัดสวัสดิการในการประกันคุณภาพชีวิตของคนให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม
          ๗. สาขาศิปกรรม หมายถึงความสามารถในการผลิตผลงานด้านศิลปสาขาต่างๆ เช่น จิตรกรรม ประติมากรรม วรรณกรรม ทัศนศิลป์ เป็นต้น
          ๘. สาขาการจัดการ หมายถึงความสามารถในการบริหารจัดการดำเนินการต่างๆ ทั้งขององค์ชุมชน องค์กรทางสังคมอื่น ในสังคมไทย เช่น การจัดการองค์การของกลุ่มแม่บ้านระบบผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน เป็นต้น กรณีของการจัดการศึกษาเรียนรู้นับได้ว่าเป็นภูมิปัญญาสาขาการจัดการที่มีความสำคัญ เพราะการจัดการศึกษาเรียนรู้ที่ดีหมายถึงกระบวนการเรียนรู้พัฒนาและถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาไทยที่มีประสิทธิผล
          ๙. สาขาภาษาและวรรณกรรม หมายถึงความสามารถผลิตผลงานเกี่ยวกับด้านภาษาถิ่น ภาษาโบราณ ภาษาไทยและการใช้ภาษาตลอดทั้งด้านวรรณกรรมทุกประเภท
          ๑๐. สาขาศาสนาและประเพณี หมายถึงความสามารถประยุกต์และปรับใช้หลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาตามความเชื่อและประเพณี
ตั้งเติมที่มีคุณค่าให้เหมาะสมต่อการประพฤติปฏิบัติให้บังเกิดผลดีต่อชุมชนบุคคลและสิ่งแวดล้อม มีการถ่ายทอดหลักธรรมทางศาสนา เช่น การบวชป่า ประเพณีบุญประทายข้าว ของชาวอีสาน เป็นต้น


0 ความคิดเห็น:

  © ขอขอบคุณ Blogger template 'Ultimatum' by s-hatcore ๒๕๕๐ : s-hatcore

กลับขึ้นข้างบน : Back to TOP