วันพุธที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2551

การพัฒนาชีวิตโดยหลักเศรษฐกิจพอเพียง



เศรษฐกิจพอเพียง
-----
“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า ๓๐ ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ


ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
-----
เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชนจนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปใน ทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัฒน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายในทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอนและขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐนักทฤษฎีและนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบเพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี


หลักแนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียง
-----
การพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง คือ การพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาทโดยคำนึงถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล

การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ความรอบคอบ และคุณธรรม ประกอบการวางแผนการตัดสินใจและการกระทำ


ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีหลักพิจารณาอยู่ ๕ ส่วน ดังนี้
-----
๑. กรอบแนวคิด เป็นปรัชญาที่ชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็น โดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย สามารถนำมาประยุกต์ใช้
ได้ตลอดเวลา และเป็นการมองโลกเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มุ่งเน้นการรอดพ้นจากภัย และวิกฤต เพื่อความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนา

๒. คุณลักษณะ เศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติตนได้ในทุกระดับ โดยเน้นการปฏิบัติบนทางสายกลาง และการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน

๓. คำนิยาม ความพอเพียงจะต้องประกอบด้วย ๓ คุณลักษณะ พร้อม ๆ กัน ดังนี้

- ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดี ที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไปโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ
- ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ
- การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล

๔. เงื่อนไข การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้น ต้องอาศัยทั้งความรู้และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน กล่าวคือ
- เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผน และความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ
- เงื่อนไขคุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้างประกอบด้วยมีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์และมีความอดทน มีความเพียรใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต

๕. แนวทางปฏิบัติ/ผลที่คาดว่าจะได้รับ จากการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ คือ การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้านทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความรู้และเทคโนโลยี



เศรษฐกิจพอเพียงกับทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ
-----
เศรษฐกิจพอเพียงและแนวปฏิบัติของทฤษฎีใหม่ เป็นแนวทางการพัฒนาที่นำไปสู่ความสามารถในการพึ่งตนเองในระดับต่าง ๆ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ลดความเสี่ยงเกี่ยวกับความผันแปรของธรรมชาติ อาศัยความพอประมาณและความมีเหตุผล สร้างภูมิคุ้มกันที่ดี มีความรู้ ความเพียร และความอดทน สติ และปัญญา การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และความสามัคคี

เศรษฐกิจพอเพียงมีความหมายกว้างกว่าทฤษฏีใหม่ โดยที่เศรษฐกิจพอเพียงเป็นกรอบแนวคิดที่ชี้บอกหลักการ และแนวทางปฏิบัติของทฤษฎีใหม่ ในขณะที่แนวพระราชดำริเกี่ยวกับทฤษฎีใหม่หรือเกษตรทฤษฏีใหม่ เป็นแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรอย่างเป็นขั้นตอน เป็นตัวอย่างการใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมเฉพาะในพื้นที่ที่เหมาะสม


เศรษฐกิจพอเพียง มี ๒ รูปแบบ คือ
-----
-เศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน คือ ความพอมี พอกิน สามารถพึ่งตนเองได้โดยไม่โลภมาก และไม่เบียดเบียนคนอื่น

-เศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า คือ การแลกเปลี่ยนร่วมมือช่วยเหลือกัน เพื่อทำให้ส่วนร่วมได้รับประโยชน์ และนำไปสู่การพัฒนาชุมชนและสังคมให้เจริญอย่างยั่งยืน


เกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นตัวอย่างที่เป็นรูปแบบของการใช้ปรัชญาเศรษฐกิจด้านการเกษตร แบ่งออกเป็น ๓ ขั้นตอน คือ

ทฤษฎีใหม่ขั้นที่ ๑
เป็นการทำการเกษตรที่มีระบบการผลิตที่สามารถเลี้ยงตนเองในระดับที่ประหยัด และสามารถช่วยเหลือตนเองได้โดยเริ่มจากการแบ่งพื้นที่ออกเป็น ๔ ส่วน คือ

ส่วนที่ ๑ เป็นพื้นที่สระน้ำเพื่อเก็บกักน้ำฝนไว้ใช้ในไร่นาเพื่อปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์
ส่วนที่ ๒ เป็นพื้นที่ปลูกข้าว เพื่อใช้สำหรับการบริโภคในครัวเรือนให้เพียงพอตลอดปี
ส่วนที่ ๓ เป็นพื้นที่ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชไร่ และอื่น ๆ เพื่อเป็นอาหารและยาสำหรับบริโภคในครัวเรือน เหลือจึงจำหน่ายเป็นรายได้
ส่วนที่ ๔ เป็นพื้นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ ถนนหนทาง และโรงเรือน

ทฤษฎีใหม่ขั้นที่ ๒
เป็นการรวมพลังของเกษตรกรในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ร่วมกันดำเนินการในการผลิต การตลาด การเป็นอยู่ สวัสดิการ การศึกษา สังคม และศาสนา โดยได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ และเอกชน

ทฤษฎีใหม่ขั้นที่ ๓
เป็นการประสานเพื่อจัดหาทุนและแหล่งเงินมาช่วยในการลงทุนและพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยได้รับประโยชน์ร่วมกัน

ดังนั้น การที่จะเลือกใช้ทฤษฎีใหม่ทั้งทฤษฎีใหม่ขั้นต้น และทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้าในการส่งเสริมเกษตรกรให้เป็นรูปธรรมตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับเกษตรกรแต่ละกลุ่มหรือแต่ละชุมชน จะต้องมีความเข้าใจและยึดหลักการในการบริหารจัดการที่ดิน และน้ำเพื่อการเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด


เปรียบเทียบเศรษฐกิจพอเพียงกับทฤษฎีใหม่
------
ความพอเพียงในระดับบุคคลและครอบครัว โดยเฉพาะเกษตรกร เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน เทียบได้กับทฤษฎีใหม่ขั้นที่ ๑

ความพอเพียงในระดับชุมชนและระดับองค์กร เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ซึ่งครอบคลุมทฤษฎีใหม่ขั้นที่ ๒

ความพอเพียงในระดับประเทศ เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ซึ่งครอบคลุมทฤษฎีใหม่ขั้นที่ ๓


การประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียง

๑. พิจารณาจากความสามารถในการพึ่งตนเองเป็นหลัก ที่เน้นความสมดุลทั้ง ๓ คุณลักษณะ คือ พอประมาณ มีเหตุมีผล และมีภูมิคุ้มกัน มาประกอบการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ เป็นขั้นเป็นตอน รอบคอบ ระมัดระวัง พิจารณาถึงความพอดี พอเหมาะ พอควร และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ที่มีองค์ประกอบครอบคลุมทั้ง ๕ ประการ คือ

(๑) ด้านจิตใจ มีจิตใจเข้มแข็ง ฝึกตนเองได้ มีจิตสำนึกที่ดี เอื้ออาทร ประณีประนอม และนึกถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก

(๒) ด้านสังคม มีความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน รู้รักสามัคคี สร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวและชุมชน รู้จักผนึกกำลัง มีกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดจากรากฐานที่มั่นคงแข็งแรง

(๓) ด้านเศรษฐกิจ ดำรงชีวิตอยู่อย่างพอดี พอมี พอกิน สมควรตามอัตภาพ และฐานะของตนประกอบอาชีพสุจริต (สัมมาอาชีวะ) ด้วยความขยันหมั่นเพียร อดทน ใช้ชีวิตเรียบง่าย โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น มีรายได้สมดุลกับรายจ่าย รู้จักการใช้จ่ายของตนเองและครอบครัวอย่างมีเหตุผลเท่าที่จำเป็น ประหยัด รู้จักการเก็บออมเงินและแบ่งปันผู้อื่น

(๔) ด้านเทคโนโลยี รู้จักใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการและภูมินิเวศ พัฒนาเทคโนโลยีจากภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม

(๕) ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รู้จักใช้และจัดการอย่างฉลาดและรอบคอบ สามารถเลือกใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดความยั่งยืนสูงสุด


๒. พิจารณาความรู้คู่คุณธรรม มีการศึกษาเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง (ทั้งภาคทฤษฎีและการปฏิบัติจริง) ในวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิต ใช้สติปัญญาในการตัดสินใจต่าง ๆ อย่างรอบรู้ รอบคอบ และมีเหตุผลที่จะนำความรู้ต่าง ๆ เหล่านั้นมาปรับใช้อย่างมีขั้นตอนและระมัดระวังในการปฏิบัติ มีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความเพียรความอดทน และใช้สติปัญญาอย่างชาญฉลาดในการดำเนินชีวิตในทางสายกลาง


คุณธรรมที่ทุกคนควรจะศึกษาและน้อมนำมาปฏิบัติ มี ๔ ประการคือ

ประการแรก คือ การรักษาความสัตย์ ความจริงใจต่อตัวเองที่จะประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม

ประการที่ ๒ คือ การรู้จักข่มใจตนเอง ฝึกใจตนเองให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในสัจจะความดีนั้น

ประการที่ ๓ คือ ความอดทน อดกลั้น และอดออมที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัตย์สุจริตไม่ว่าด้วยเหตุประการใด

ประการที่ ๔ คือ การรู้จักละวางความชั่ว ความทุจริต และรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตนเพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง

คุณธรรม ๔ ประการนี้ ถ้าแต่ละคนพยายามปลูกฝังและบำรุงให้เจริญงอกงามขึ้นโดยทั่วกันแล้ว จะช่วยให้ประเทศชาติบังเกิดความสุข ความร่มเย็น และมีโอกาสที่จะปรับปรุงพัฒนาให้มั่นคง ก้าวหน้าต่อไปได้ดังประสงค์....................


วิธีการพัฒนาชีวิตโดยเศรษฐกิจพอเพียง
-----
คนแต่ละคนมีชีวิตแตกต่างกันไปตามแบบแผนของสังคมที่สลับซับซ้อน เปลี่ยนแปลงและพัฒนาตลอดเวลา แต่ทุกคนก็ยังมีความต้องการที่ประสบความสำเร็จในชีวิตโดยเฉพาะคนไทยที่อยู่ในประเทศไทยนั้น ยังมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงชี้แนะและมอบแนวทางในการดำรงชีวิตในทางสายกลางที่สมดุล คือ มีความพอประมาณ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกันภายใต้เงื่อนไขของความรู้และคุณธรรม ที่เรียกว่า เศรษฐกิจพอเพียง ชีวิตความเป็นอยู่ของคนเกี่ยวข้องทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครอง และอื่น ๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นความจำเป็นพื้นฐานที่แต่ละคนมีระดับความต้องการไม่เท่ากัน เพราะแต่ละคนย่อมมีโอกาสของการพัฒนาการที่แตกต่างออกไป เช่น ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ การสร้างรายได้ การใช้ประโยชน์จากทรัพยากร เป็นต้น ในขณะเดียวกันด้านสังคมเริ่มต้นจากการดำรงชีวิตจะมองถึงความสามารถในการพึ่งตนเอง ความร่วมมือของคนในครอบครัวและคนรอบข้าง สมาชิกในสังคมยอมรับ มีความมั่นคงในการดำรงชีวิต เป็นต้น ดังนั้น การพัฒนาชีวิตควรดำเนินการ ดังนี้

๑. ค้นหาความต้องการของตนเองให้พบว่า มีความต้องการอะไร มีเป้าหมายในการดำเนินชีวิตอย่างไร เช่น ต้องการมีชีวิตที่มีอนาคตก้าวหน้า มีความเป็นอิสระ มีเวลาเพื่อครอบครัวและสังคม มีทรัพย์สินเพียงพอ มีความสุข หลุดพ้นจากความยากลำบาก

๒. วิเคราะห์ข้อมูลของตนเองและครอบครัว ซึ่งจะทำให้รู้สถานภาพ รู้สาเหตุของปัญหา รู้ปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รู้ผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม

๒.๑ ศักยภาพของตนเอง เช่น ความรู้ ความสามารถ ความชำนาญ (ทักษะ) ชื่อเสียง ประสบการณ์ ความมั่นคง ความก้าวหน้า สภาพทางการเงิน การสร้างรายได้การใช้จ่าย การออม คุณธรรมและศีลธรรม

๒.๒ศักยภาพของครอบครัว เช่น วิถีการดำรงชีวิต ภาวะเศรษฐกิจของครอบครัว ความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม วัฒนธรรม ประเพณี คุณภาพชีวิตของคนในครอบครัวฐานะทางสังคม ฐานะทางการเงิน ที่เป็นทรัพย์สินและหนี้สินของครัวเรือน รายได้ รายจ่าย ของครัวเรือน


๓. วางแผนการดำเนินชีวิต

๓.๑ พัฒนาตนเอง ให้มีการเรียนรู้ต่อเนื่อง (ใฝ่เรียนรู้) สร้างวินัยกับตนเอง โดยเฉพาะวินัยทางการเงิน

๓.๒ สร้างนิสัยที่มีความคิดก้าวหน้ามุ่งมั่นในเป้าหมายชีวิต หมั่นพิจารณาความคิด ตัดสินใจแก้ปัญหา เป็นระบบโดยใช้ความรู้ (ที่รอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง) มีความรับผิดชอบต่อตนเอง สังคม และครอบครัว
๓.๓ หมั่นบริหารจิตใจให้มีความซื่อสัตย์ สุจริต รักชาติ เสียสละ สามัคคี เที่ยงธรรม ศีลธรรม
๓.๔ ควบคุมจิตใจให้ตนเอง ประพฤติในสิ่งที่ดีงาม สร้างสรรค์ ความเจริญรุ่งเรือง
๓.๕ พัฒนาจิตใจ ให้ลด ละ เลิก อบายมุข กิเลส ตัณหา ความโกรธ ความหลง
๓.๖ เสริมสร้างและฟื้นฟูความรู้และคุณธรรมของตนเองและครอบครัว เช่น เข้ารับการฝึกอบรม ฝึกทักษะ ในวิชาการต่าง ๆ หรือวิชาชีพ หมั่นตรวจสอบและแก้ไขข้อบกพร่องอย่างสม่ำเสมอ
๓.๗ ปรับทัศนคติในเชิงบวก และมีความเป็นไปได้


๔. จดบันทึกและทำบัญชีรับ – จ่าย

๕. สรุปผลการพัฒนาตนเองและครอบครัว โดยพิจารณาจาก

๕.๑ ร่างกายมีสุขภาพ สมบูรณ์ แข็งแรง
๕.๒ อารมณ์ต้องไม่เครียด มีเหตุมีผล มีความเชื่อมั่น มีระบบคิดเป็นระบบเป็นขั้นเป็นตอน มีแรงจูงใจ กล้าคิดกล้าทำ ไม่ท้อถอย หรือหมดกำลังใจ เมื่อประสบปัญหาในชีวิต
๕.๓ สิ่งเหล่านี้ได้ลด ละ เลิก ได้แก่ รถป้ายแดง เงินพลาสติก โทรศัพท์มือถือ สถานเริงรมย์ เหล้า บุหรี่ การพนัน


ที่มา :
-----------
- สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิในแนวทางเศรษฐกิจและสาขาต่าง ๆ มาร่วมกันประมวลและกลั่นกรองพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งพระราชทานไว้ในวโรกาสต่าง ๆ รวมทั้งพระราชดำรัสอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้นำไปเผยแพร่เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของทุกฝ่ายและประชาชนทั่วไป เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๒

- เศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร (พิมพ์ครั้งที่ ๓) โดยคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีนาคม ๒๕๔๙

- เศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร (พิมพ์ครั้งที่ ๓) โดยคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีนาคม ๒๕๔๙

- พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในวันพระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระบูรพามหากษัตริยาธิราชเจ้า : ๒๕ เมษายน ๒๕๒๕



****************


0 ความคิดเห็น:

  © ขอขอบคุณ Blogger template 'Ultimatum' by s-hatcore ๒๕๕๐ : s-hatcore

กลับขึ้นข้างบน : Back to TOP