วันอังคารที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2551

การศึกษา คือ การพัฒนาชีวิต



การศึกษา คือ การพัฒนาชีวิต : กรณีการออม เศรษฐกิจพอเพียงและการทำบัญชีครัวเรือน

********

๑. การศึกษาเป็นเรื่องใหญ่

* การศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ เรียกได้ว่าเป็นหัวใจของความเป็นมนุษย์ คนทุกคนจะได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์ได้ ก็ต้องอาศัยการศึกษา มนุษย์แปลว่า คนผู้มีใจสูง ใจดี จะเป็นดังนี้ได้ก็ด้วยการศึกษา

* ปัจจุบัน ประเทศไทยเราสนใจเรื่องการศึกษามากขึ้น มีการกำหนดเป็นตัวบทกฎหมายเฉพาะมีการวางรูปแบบการศึกษาออกเป็นแบบต่างๆ มีแบบที่เป็นทางการ ไม่เป็นทางการ และตามอัธยาศัย คือ เรียนกันอย่างเป็นทางการจริงจังก็ได้ ใครที่สนใจช่วยกันจัดช่วยกันทำก็ได้ เรียนด้วยตนเองตามความสะดวกก็ได้ ที่สำคัญ คือ ต้องเรียนกันตลอดชีวิต

* ตามหลักคิดของพุทธศาสนา หรือของพระพุทธเจ้า การศึกษา คือ การพัฒนาชีวิต คือ ๔การพัฒนาชีวิตของแต่ละคนให้ดีขึ้น เจริญขึ้นในทุกๆ ด้าน
โดยปกติ ชีวิตคนแบ่งได้เป็น ๒ ด้านหลัก คือ ด้านกายและด้านใจ ใน ๒ ด้านนี้ ขยายออกด้านละ ๑ ก็ได้เป็น ๔ ด้าน คือ ด้านกาย บวก ด้านสังคม คือ ความสัมพันธ์กับบุคคลหรือสิ่งภายนอกกาย และด้านใจหรือจิตบวกด้านจิตวิญญาณ คือ สติปัญญา ดังนั้น การพัฒนาชีวิตคนจึงต้องพัฒนาทั้ง ๒ ด้าน หรือ ๔ ด้านนี้ให้เจริญ คือ กายเจริญ สังคมเจริญ จิตเจริญ จิตวิญญาณเจริญ เรียกกันง่ายๆ ว่า กินเป็น อยู่เป็น คิดเป็น และรู้เป็น คนที่กินเป็น อยู่เป็น คิดเป็น และรู้เป็นนั้นแหละเรียกว่าผู้เจริญ ยกตัวอย่างในหลวงของเราเป็นที่เคารพรักของปวงชนชาวไทย ก็เพราะท่านได้พัฒนาชีวิตของท่านให้เป็นคน กินเป็น อยู่เป็น คิดเป็น และรู้เป็น

* พระพุทธเจ้า ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลตัวอย่างชั้นยอดก็เพราะท่านได้พัฒนาพระองค์เองทั้งกายและใจในทำนองเดียวกันนี้ จนรู้แจ้งในทุกสิ่ง โดยเฉพาะรู้ ความทุกข์และรู้วิธีดับทุกข์ จนจัดการกับทุกข์ที่พระองค์ประสบลงได้ และทรงเชิญชวนให้เราเรียนรู้วิธีดับทุกข์ที่พระองค์ค้นพบด้วย เราจึงเคารพนับถือพระองค์กันจนถึงวันนี้

การศึกษาจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดสำหรับชีวิตคน เพราะช่วยทำคนให้เป็นมนุษย์ และเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบได้


๒. ระดับการศึกษาของคน

* คนเราเกิดมาเพื่อการศึกษา หรือเพื่อการพัฒนาก็ได้ เพราะธรรมชาติให้ทุนคือศักยภาพในการเรียนรู้มาให้ค่อนข้างพร้อมและสูง ทั้งด้านกายและใจ ให้ตาหู เป็นต้น ซึ่งเป็นด้านกายมาทำหน้าที่รับเรื่องราวต่าง ๆ จากภายนอก มี รูป เสียง เป็นต้น ให้ใจหรือจิตเป็นผู้รับเรื่องมาคิด นึก และให้จิตวิญญาณมาเป็นผู้วินิจฉัยและตัดสินว่า ให้ทำให้พูดให้คิดว่าจะทำอะไร อย่างไร เมื่อใด ที่ไหน...

* แต่การจะพูด ทำ คิด อะไรถูกต้องหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่จิตและจิตวิญญาณรับเข้าไปสั่งสมไว้นั่นเอง จิตที่รู้แจ้งว่าอะไรเป็นอะไร เป็นจิตที่มีปัญญา จิตที่มีปัญญาจะสามารถตัดสินใจทำอะไรได้ถูกต้อง และดีงามได้เสมอดังนั้น จุดสูงสุดของการศึกษาจึงอยู่ที่การพัฒนาจิตให้มีปัญญา

ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ ให้ทัศนะไว้ว่า การศึกษาเรียนรู้มี ๓ ระดับ จึงจะได้ชื่อว่าการศึกษาสมบูรณ์ และจะเป็นชีวิตที่สมบูรณ์
  ๑.การรู้หนังสือ คือ การเรียน ก ข ค ง จนอ่านออก เขียนได้ ใช้ประโยชน์ได้ อ่านหนังสือได้ เขียนหนังสือในภาษาที่มนุษย์ใช้อยู่อย่างน้อยในภาษาของตน ๆ ได้ เช่น คนไทยอ่านเขียน พูด ภาษาไทยได

  ๒. การรู้วิชาชีพ คือ เรียนรู้วิธีการทำงานเพื่อประกอบอาชีพอย่างใดอย่างหนึ่งได้ เช่น เป็นครูได้ เป็นทหารได้ เป็นตำรวจได้ เป็นชาวนา เป็นชาวสวนได้ สามารถทำกิจกรรมนั้น ๆ เพื่อมีเงินซื้อสิ่งของมาแลกเปลี่ยนปัจจัยในการดำรงรักษาชีวิตของตน ๆ ให้มีชีวิตอยู่รอดได้ เลี้ยงครอบครัว แม้กระทั้งญาติพี่น้องได้

  ๓. การเรียนรู้เพื่อความเป็นมนุษย์ คือ เรียนรู้วิธีที่จะพัฒนาตนเองและช่วยเหลือผู้อื่นให้เป็นผู้มีใจสูง มีใจดี มีคุณธรรมจริยธรรมประจำใจ สามารถพัฒนาความรู้ ความคิด จนเข้าใจความจริงว่าอะไรเป็นอะไร สามารถยกระดับความต้องการความสุขโดยการเสพวัตถุ มาต้องการความสุขโดยอาศัยความสงบของกายใจ

การแบ่งระดับการศึกษาเป็น ๓ ระดับ ดังกล่าวนี้ ชี้ให้เห็นว่า

๑. การศึกษา คือ ชีวิต
๒. การศึกษา คือ กระบวนการพัฒนาชีวิต
๓. การศึกษา คือ ที่มาของความเป็นมนุษย์ระดับสูงสุด

* ผู้ขาดการศึกษา จึงมีค่าน้อย มีฐานะเทียบเท่าสัตว์ทั่วไป หรือบางคนอาจจะต่ำกว่าสัตว์บางชนิดเสียอีก คือ ทำลายตนเองและผู้อื่นได้อย่างเลือดเย็น เห็นแก่ตัวจนน่ารังเกียจ เป็นต้น

* ระดับการศึกษาที่ว่านี้ มิใช่ระดับการศึกษาที่คนทั่วไปรู้จักที่รัฐเป็นผู้จัดแบ่งและดำเนินการให้การศึกษาอยู่ ระดับที่รัฐจัดที่จริงก็แบ่งได้ 3 ระดับเหมือนกัน คือ ระดับประถม ระดับมัธยมและระดับอุดม คือ ระดับต้น ระดับกลางและระดับสูง แต่ในเนื้อหาจะเน้นอยู่ที่ 2 ระดับ คือ ระดับต้นและระดับกลาง ซึ่งเทียบกับระดับรู้หนังสือ และรู้วิชาชีพ ส่วนระดับอุดม ซึ่งเป็นระดับที่เรียนรู้เพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์นั้น เรายังทำได้ไม่ดีพออาจจะเรียกว่าไม่ถึงก็ได้ และที่สำคัญ คือ ผู้จะเข้าเรียนระดับอุดมศึกษานั้น ยังมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนคนของเรา เช่น ในที่ประชุมนี้ ก็มีผู้ได้เรียนถึงระดับอุดมศึกษาอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ได้เรียนชั้นประถมรองลงมาอาจเป็นมัธยม

* แต่นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด เพราะการจะเรียนให้ถึงขั้นพัฒนาความเป็นมนุษย์นั้น ทุกคนสามารถเรียนด้วยตนเองได้ เพียงให้ตั้งใจเรียน และทำตามเงื่อนไขที่พระสอน คือ ให้คบบัญฑิต ให้ใช้ความคิด และให้ใช้ปัญญา เพราะการคบบัณฑิตซึ่งหมายถึงผู้มีวิชาและจรณะที่ดี จะมีโอกาสได้ฟังสิ่งดีจากเขา เช่น การไปฟังเทศน์ ฟังธรรมจากพระสงฆ์ที่มีวิชาจรณะที่ดีก็จะได้รู้สิ่งดีมีประโยชน์ แล้วนำมาคิดต่อคิดตามปฏิบัติตาม เช่น เราไปเรียนรู้เรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา แล้วเราก็กลับมาคิดตาม และทำตาม เราก็จะพัฒนาตนเองให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้นกว่าเดิมได้

เราพูดดี ทำดีขึ้นกว่าเดิม
เราคิดดี นึกดีขึ้นกว่าเดิม
เรารู้ดี เข้าใจอะไรดี กว่าเดิม

หากความดีทั้ง ๓ ส่วนนี้เกิดขึ้นที่กายใจเรา นั่นแสดงว่าเราได้ศึกษา ได้เพิ่มระดับการศึกษาของเราให้สูงขึ้นกว่าเดิม แล้วระดับหนึ่ง ถ้าทำบ่อยๆ ก็จะเพิ่มบ่อยๆ ทำต่อเนื่องนานๆ ก็จะเพิ่มมากและจะสมบูรณ์มากขึ้น จนถึงขั้นอุดมศึกษาจริงๆ คือ เข้าถึงความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์



๓. การออมกับการพัฒนาการศึกษา

* วันนี้ทางศูนย์บริการการศึกษา บอกผู้พูดว่า ให้ช่วยพูดถึงการออมและประโยชน์ของการออม ให้พูดถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และให้พูดถึง การทำบัญชีครัวเรือน โดยแบ่งเรื่องแบ่งเวลา และแบ่งคนพูด ออกเป็น 2 ช่วงและ 2 คน เพื่อไม่ให้รู้สึกว่ามากเรื่อง จึง ขออนุญาตรวมเรื่องทั้งหมดเป็นเรื่องเดียว คือ เป็นเรื่อง การศึกษากับการพัฒนาชีวิต เพราะเรื่องการออมก็ดี เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงก็ดี และเรื่องการทำบัญชีก็ดี โดยเนื้อหาแล้ว เป็นเรื่องเดียวกัน คือ ทุกเรื่องเป็นเรื่องการเรียนรู้ เรื่องการศึกษา เพื่อพัฒนาชีวิตของทุกคน รวมทั้งผู้พูดด้วย

-ที่ว่า การออม เป็นเรื่องการศึกษาเพื่อพัฒนาชีวิต ก็เพราะว่า การออมเป็นกิจเพื่อรักษา บำรุง ถนอม และสร้างชีวิตของเราให้อยู่รอดอย่างมั่นคงต่อไปได

-ที่ว่า เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเรื่องการศึกษาเพื่อพัฒนาชีวิตก็เพราะเศรษฐกิจพอเพียง คือ แนวคิด หรือปรัชญาเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาชีวิตของเราทุกคน และ

-ที่ว่า การทำบัญชีครัวเรือน เป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาชีวิตก็เพราะการทำบัญชี คือ การเก็บข้อมูลรายรับรายจ่ายของเราในแต่ละวัน เพื่อประโยชน์ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ก็เพื่อพัฒนาชีวิตของเราอีกนั่นแหละ

นั่นคือ ทุกเรื่องที่เราคิดเราทำกันทุกวันตลอดชีวิตเรานี้ก็เพื่อชีวิต เพื่อพัฒนาชีวิตของเรา นั่นเอง ไม่มีเรื่องอื่นปนเลย
ในช่วงแรกนี้ขอพูดเรื่องการออม และประโยชน์ของการออม แล้วจะตามมาด้วยเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แล้วจะเชื่อมโยงให้เห็นว่า ๒ เรื่องนี้สัมพันธ์กันอย่างไร และจะชี้ให้เห็นว่าทั้ง ๒ เรื่อง นี้ เป็นเรื่องการศึกษาเพื่อพัฒนาชีวิตอย่างไร ในช่วงที่ ๒ จะพูดถึงการทำบัญชีครัวเรือนว่า คืออะไร และมีความสำคัญต่อเราอย่างไร

มีส่วนสัมพันธ์กับการออมและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร?

๑. เรื่องการออม
การออมเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ หรืออาจกล่าวได้ว่าทุกคนรู้จัก เคยได้ยิน และเข้าใจในระดับหนึ่งว่า คือ อะไร ผู้พูดเองสมัยเด็กอายุประมาณสัก ๑๐ กว่าขวบ ยังจำได้ว่า คุณแม่พูดถึงการออมอย่างน้อย ๒ เรื่อง คือ เรื่องอาหาร และเรื่องเงิน เมื่อกินอาหารแต่ละมื้อ คุณแม่มักจะบอกว่า กับข้าวคือปลา เป็นต้น จะต้องออม คือ กินแต่น้อย หรือกินพอประมาณ เก็บไว้กินมื้อต่อไปด้วย เพราะกับข้าวดูเหมือนจะหายากกว่า ข้าว เพราะข้าวปลูกได้เองแต่ปลามิได้เลี้ยงต้องไปหาจากแหล่งน้ำมี ห้วย หนอง ลำคลอง เป็นต้น เมื่อรู้จักใช้เงิน คุณแม่ก็สอนว่าให้ออมไว้ใช้วันหน้าได้มา ๑๐ บาท ถ้าออมได้ทั้ง ๑๐ บาทก็จะดี จำได้ว่าช่วงนั้น เมื่อได้เงินมาจากคุณแม่ให้ก็ดี รับจ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้เงิน ๑๐-๒๐ บาท ก็ดี ก็มักจะเก็บรวบรวมไว้ได้ถึง ๒๐๐-๓๐๐ บาท ซึ่งมากพอสมควรสำหรับเมื่อ ๕๐ กว่าปีมาแล้ว และคนชนบท บ้านนอกอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ


การออมคืออะไร?
*-เมื่อดูที่ภาษา หรือที่คำศัพท์ พจนานุกรมฉบับบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๕๒๕ ให้นิยามไว้ว่า ออม ก. ประหยัด เก็บหอมรอบริบ, เช่น ออมทรัพย์; ถนอม, สงวน, เช่น ออมแรง จากความหมายนี้ แสดงว่า การออม คือ การประหยัด การเก็บหอมรอบริบ การถนอม และการสงวน สิ่งที่จะประหยัด หรือเก็บหอมรอบริบ ได้แก่ ทรัพย์สินเงินทอง เช่น คำว่า ออมสิน ซึ่งเป็นชื่อธนาคารไทยธนาคารหนึ่งที่เรารู้จักดี, การถนอม การสงวน ได้แก่การถนอมอาหาร การสงวนแรง การสงวนทรัพยากรป่าไม้ เช่น ป่าสงวน ส่วนการใช้ชีวิต เช่น หญิงสาว ถูกสอนให้สงวนเนื้อสงวนตัว

- จึงเห็นได้ว่า การออม นั้นมีความหมายกว้าง คือหมายถึง การใช้สิ่งมีค่ามีคุณทั้งหลายอย่างระมัดระวัง อย่างไม่ประมาท อย่างมีเหตุมีผล ทั้งในตนและนอกตน คือ ตนเอง ชีวิตของตนเองซึ่ง แต่ละคนจะต้องถือว่า มีความหมายสูงสุด สำคัญสูงสุด จึงต้องรู้จักตระหนักถึงคุณค่าของชีวิต ไม่ปล่อยปละละเลยให้ ตกต่ำให้ไร้ค่า พยายามรักษาและพัฒนาให้เจริญให้ได้ ในขณะเดียวกัน ทรัพย์สินเงินทอง ข้าวของต่าง ๆ ที่เป็นปัจจัยในการดำรงชีพ ก็ต้องให้ความสำคัญ ต้องรู้จักเก็บรู้จักใช้ ไม่ปล่อยปละละเลย ไม่ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ไม่โค่นป่าเพื่อหานก เป็นต้น

- จะเห็นได้ว่า การออมมิได้มุ่งที่ออมเงินอย่างเดียว แต่หมายถึง การออมชีวิตตนเอง และปัจจัยในการดำรงชีพทุกอย่างด้วย
การออม ในเบื้องต้น เป็นเรื่องของคน คือ จุดเริ่มต้นจะเกิดที่คน การออมจะเกิดได้ก็เพราะคนได้รับการศึกษาเรียนรู้ มีครู คือ พ่อแม่ เป็นต้น เป็นผู้แนะนำสั่งสอน ให้ความสำคัญ ความจำเป็น และผลหรือคุณประโยชน์ที่เกิดจากการออม เมื่อโตขึ้นก็คิดได้เอง ทำได้เอง และสอนผู้อื่นต่อไป การออมจึงเป็นเรื่องของการศึกษา การพัฒนาชีวิตของคนลักษณะหนึ่ง คือ การฝึกให้รู้ ให้คิด และให้ทำในสิ่งดีมีประโยชน

* -การออมชีวิต ออมเงิน ออมทรัพยากรธรรมชาติมีป่าไม้ แหล่งน้ำ แหล่งดิน ก็ต้องเริ่มต้นที่การเรียนรู้ การคิดและการปฏิบัติเช่นเดียวกัน
ปัจจุบัน เรารู้จักการออมกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการออมเงิน ทั้งภาครัฐและภาคประชาชน มีการส่งเสริมการออมกันอย่างคึกคัก
ในจังหวัดนครราชสีมาของเรา ตำบลของเราในครัวเรือนของพวกเราส่วนใหญ่ ก็ได้รับการส่งเสริมให้รู้จักการออม ให้คิดการออม และให้ทำกิจกรรมการออมกันมากขึ้น ตั้งแต่ในระดับบุคคล ครอบครัว หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด จนถึงระดับชาติ รัฐบาลเองก็ตระหนักในเรื่องนี้ และได้หาทางส่งเสริมให้ประชาชนทำการออมกันตลอดมา

*หลายคนหลายครอบครัว หลายหมู่บ้าน รู้จักคำว่ากลุ่มสัจจะออมทรัพย์เพื่อการผลิต กลุ่มสัจจะออมทรัพย์พัฒนาครบวงจรชีวิต กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ เป็นต้น และล่าสุด คือ กลุ่มออมทรัพย์ที่ชื่อว่า กลุ่มสัจจะลดรายจ่ายวันละ 1 บาท เพื่อจัดสวัสดิการภาคประชาชน ซึ่งเป็นการออมเพื่อนำเงินมาจัดสวัสดิการชีวิตโดยตรงตั้งแต่เกิดจนตาย ซึ่งเกิดขึ้นและขยายเครือข่ายอยู่ในจังหวัดสงขลาเรา และเมื่อจังหวัดอื่นทราบข่าวก็มาเรียนรู้เอาไปขยายผลต่อในจังหวัดของตน ๆ ภาครัฐเห็นว่า เป็นสิ่งดีมีประโยชน์ จึงนำไปกำหนดเป็นนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้ทำกันอย่างกว้างขวางมากขึ้น และยิ่งไปกว่านั้น ได้จัดสรรเงินงบประมาณเข้าสนับสนุนกิจกรรมนี้กับภาคประชาชนด้วย
นี้แสดงว่า การออมนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก และมีประโยชน์มากต่อการดำรงชีวิตของเรา และการพัฒนาชีวิตของเรา



การออมให้คุณประโยชน์แก่เราอย่างไรบ้าง?

*  กล่าวโดยรวมการออมให้ประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตและการพัฒนาชีวิตของเรา ไม่ว่าจะเป็นการออมเงินและออมทรัพยากรอื่น รวมทั้งการออมชีวิต
หากจะแยกให้เห็นเป็นเรื่อง ๆ ก็แยกได้ดังนั้น

  ๑.  ด้านเศรษฐกิจ เศรษฐกิจ แปลว่า กิจที่ประเสริฐ คือ เป็นกิจที่ช่วยให้ชีวิตดำรงอยู่และเปิดโอกาสให้คนได้พัฒนาชีวิตคนให้เจริญ ให้สูงขึ้นได้ การประกอบอาชีพ เช่น การปลูกพืชผัก เพื่อบริโภค เพื่อแจกจ่ายแก่เพื่อนบ้าน หรือเพื่อจำหน่ายให้ได้เงินมา เพื่อนำไปแลกกับปัจจัยด้านอื่น เช่น ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ เป็นต้น เรียกกันว่า เป็นเรื่องกิจกรรมด้านเศรษฐกิจ คือ เรื่องการผลิต การแจกจ่าย และการบริโภค เงินเป็นตัวกลางของการแลกเปลี่ยน หรือซื้อขายปัจจัยทั้งหลาย จึงมีความสำคัญต่อการดำรงชีพสูงมาก โดยเฉพาะปัจจุบัน การจะมีเงินได้ก็เป็นเรื่องยาก ดังนั้น เมื่อได้มาก็ต้องรู้จักประหยัดรู้จักออม เพื่อแลกเปลี่ยนสิ่งของปัจจัยในการดำรงชีพต่อไป

  ๒. ด้านสังคม ในกระบวนการออม ถ้ารวมกลุ่มการออมตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล ถึงจังหวัด ที่ปฏิบัติกันอยู่ขณะนี้ เห็นได้ชัดว่า มีผลดีด้านสังคม คือ เป็นกิจกรรมส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ให้คนคิดถึงกัน เอื้ออาทรต่อกัน หรือรักกันมากขึ้น อย่างกรณีการออมสัจจะลดรายจ่ายวันละ 1 บาท เป็นเครื่องมือให้คนที่เป็นสมาชิกคิด เอื้ออาทรต่อเพื่อนสมาชิก ต่อผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการช่วยตัวเองไม่ได้ และได้มีส่วนช่วยเพื่อนตั้งแต่วันลืมตามาดูโลกจนถึงวันตาย ถ้าได้ปฏิบัติกันอย่างจริงจังก็จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัว และชุมชนได้ทางหนึ่ง

  ๓.  ด้านวัฒนธรรม กิจกรรมที่คนส่วนใหญ่ถือปฏิบัติกันอย่างแพร่หลาย มีสาระทั้งที่เป็นความรู้ ความคิด การปฏิบัติที่มีแบบแผนแน่นอน และทำอย่างต่อเนื่อง และให้ผลเป็นความดีแก่ผู้ปฏิบัติ เราจัดว่าเป็นวัฒนธรรม พฤติกรรมการออม กิจกรรมการออม ผลการออมมีลักษณะเช่นว่านี้ จึงจัดว่าเป็นวัฒนธรรมสำคัญของชุมชนได้อย่างหนึ่ง ถ้าได้ปฏิบัติกันอย่างจริงจังตลอดไป เพราะเนื้อในของการออม นั้นมีองค์ประกอบของความเป็นวัฒนธรรมครบถ้วน คือ มีทั้งองค์ความรู้ วิธีปฏิบัติ และผลการปฏิบัติที่ชัดเจน ให้ประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติดีได้ทั้ง ๔ ด้าน คือ ด้านกาย ด้านสังคม ด้านใจ และด้านจิตวิญญาณ

 ๔.  ด้านการศึกษา ภาพรวมทางกระบวนการการออมเป็นเรื่องของการเรียนรู้ การฝึกตนเอง ผู้ทำการออม หรือเป็นสมาชิกกลุ่มเพื่อออมเพราะต้องรู้หลักคิด หลักการและหลักปฏิบัติ ตลอดถึงผลลัพธ์ที่พึงได้พึงมี การที่ทุกคนเดินเข้าสู่กระบวนการนี้ได้ชื่อว่า เดินเข้าสู่กระบวนการทางการศึกษา เพื่อพัฒนาตนเอง ดังได้กล่าวแล้วในตอนต้น ผู้เข้าร่วมกิจกรรมนี้ อย่างตั้งใจจะเรียนรู้ก็จะได้รับประโยชน์ส่วนนี้อย่างครบถ้วน โดยไม่รู้ตัว และจะพบว่าตนเองเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งด้านการรู้ การคิด การพูด และการทำ

  ๕.  ด้านทรัพยากรธรรมชาติแวดล้อม ดิน น้ำ ป่า เขา สัตว์ พืชที่เราได้เห็น อยู่รอบ ๆ ตัวเรา บ้านเรา ชุมชนเรา คือ ชีวิตเรา เพราะว่า เราต้องอาศัยดิน น้ำ ป่า เขา พืช สัตว์เหล่านั้น จึงมีชีวิตอยู่ได้ ดินหด น้ำแห้ง ฝนแล้ง ป่าถูกเผา ภูเขาพัง สัตว์ล้มตายด้วยโรคบางชนิด ภาวะเช่นนี้ คือ สัญญาณเตือนภัยอันใหญ่หลวง ได้เกิดขึ้นแก่มนุษย์แล้ว เพราะเราเป็น อยู่ได้ พัฒนาได้ ก็โดยอาศัยสิ่งเหล่านี้ การพูดถึงการออมทรัพย์สินหรือทรัพยากรธรรมชาติ จึงเป็นเรื่องใหญ่ยิ่งเท่ากับออมชีวิต เงินทองจะมีความหมายก็เมื่อมีสิ่งนี้ เมื่อไม่มีสิ่งนี้ เงินทองก็หมดความหมาย กลายเป็นเศษกระดาษ เศษโลหะที่กินไม่ได้ ช่วยชีวิตมนุษย์ไม่ได้เลย การใช้เงินเพื่อจัดการทรัพยากรให้คงอยู่ในภาวะปกติ จึงเป็นเรื่องต้องคิดต้องทำ

  ๖.  ด้านการพัฒนาชีวิต การออมเป็นเรื่องการรู้ การคิด และ การทำ การออมที่เริ่มด้วยการเรียนรู้เรื่องสัจจะ คือ ความจริงที่รู้ ที่คิด ที่พูด ที่ทำ ของตนเอง ว่าจะต้องพูดจริง ทำจริง คิดจริง และรู้จริงนั้น นับเป็นการเรียนรู้เพื่อรู้จักตนเอง รู้จักความสัมพันธ์ระหว่างคนกับผู้คนในครอบครัว ในชุมชน เป็นต้น โดยเฉพาะคนในครอบครัว มีภรรยา หรือสามี และลูก ๆ รวมปู่ยาตายาย ถ้าคนในครอบครัวรู้จักสัจจะ คือ ความซื่อสัตย์ ซื่อตรง จริงใจ จริงวาจา จริงการทำต่อกัน รู้จักข่มใจในบางโอกาสบางกรณี รู้จักอดทนอดกลั้น รู้จักสละสิ่งของให้แก่กัน และรู้จักสลัดอารมณ์มัวหมอง เป็นตน ก็มีคุณต่อชีวิตของคนในครอบครัว อย่างมากมายแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าได้ศึกษาให้ลึกลงไปในสัจจะของชีวิตทั้งที่ตนเอง ผู้อื่น สิ่งอื่น รอบ ๆ ตัวอีกด้วยแล้ว ก็จะยังเพิ่มคุณประโยชน์ให้อีกมากมาย จนถึงขั้นเข้าใจสัจธรรม ทั้งที่ตนเองผู้อื่น และสิ่งอื่น ก็ถือว่า ถึงขั้นสุดยอด ของการพัฒนาชีวิตแล้ว

จึงเห็นได้ว่า คุณประโยชน์ของการออมนั้นมีมากมาย มหาศาลจริง ๆ ถึงเวลาหรือยังที่เราจะศึกษาเรียนรู้ และฝึกฝนเรื่องการออมกันอย่างจริงจักและกว้างขวางมากขึ้น ทั้งออมชีวิต ออมสิ่งของเงินทอง และทรัพยากรธรรมชาติ



******
๒. เรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

*  - ประเทศไทยเรานั้น เป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ คือ มี ทะเล มีภูเขา มีป่า มีพืช มีสัตว์นานาชนิด เราพูดรวมๆ ว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว โดยเฉพาะภาคใต้ของเรามีครบทุกอย่าง เราจึงไม่เดือดร้อนในการแสวงหาปัจจัย ๔ มาบำรุงชีวิตของเราเลย อยากกินปลาก็หากินได้ ใกล้ๆ บ้าน อยากกินผักกินพืชก็มีให้กิน เจ็บป่วยเราก็มียาสมุนไพร ยามไข้ใจเราก็มี พระคอยช่วยเหลือ คอยให้ทั้งสติและปัญญา สอนให้เรามีศีลมีธรรม ไม่เป็นคนประมาทขาดสติ

* แต่มาบัดนี้วันนี้สิ่งที่ว่าข้างต้นนั้นได้สูญหายไปเกือบจะหมดสิ้นจะเหลือก็เฉพาะความทรงจำของคนสูงอายุ
อนุชนคนรุ่นหลังของเราไม่มีโอกาสได้สัมผัสบรรยากาศดังกล่าวอีกต่อไป
เราถูกสอนให้เข้าใจว่านี้คือความเจริญ คือ มีถนนหนทาง เต็มไปหมด มีรถวิ่งจนคนไม่มีที่เดิน มีร้านขายของ ๒๔ ชั่วโมง มีอะไรต่ออะไรเต็มไปหมด แต่ที่เราขาด

คือ ความอยู่ดีมีสุข เราต้องอยู่ร้อน นอนทุกข์กับเรื่องต่าง ๆ มากมาย
*  - ทั้งหมดนี้เราได้ข้อสรุปแล้วว่า เพราะเราเสียรู้ลัทธิทุนนิยม ซึ่งเป็นระบบคิด ระบบรู้ ระบบทำของฝรั่งที่เราคิดว่าเขาเจริญกว่าเรา เราจึงเชื่อเขาเกือบทุกอย่าง เห็นเขาทำอะไรก็คิดว่าดีหมด เช่นฝรั่งนอนแก้ผ้า นุ่งน้อยห่มน้อย เราก็คิดว่าดี ฝรั่งแนะให้ทำโน่นทำนี้ เราก็ทำตามฝรั่งแนะให้เรา ขายดิน ขายน้ำ ถางป่า ขุดภูเขา เราก็ทำ เพื่อให้ได้สิ่งที่เรียกว่า เงิน ก็เป็นอันพอ...แต่ในที่สุดทรัพยากรธรรมชาติทุกประเภทก็ถูกดูด เข้าท้องฝรั่งเกือบหมด แม้แต่ลูกหลานของเราก็ไปเป็นคนรับใช้พวกเขา เด็กสมองดีทั้งหลายถูกดูดเข้าเมือง เข้ากรุงเทพ และเลยไปเมืองนอก ไปทำงานอยู่กับฝรั่ง กลับบ้านไม่ถูก ผลคือ ชุมชนเราขาดคนดูแล คนที่อยู่ในชุมชนก็อ่อนแอช่วยตนเอง ช่วยกันเองได้ยาก หรือไม่ได้ จึงเกิดปัญหาสารพัดตามมา

* - ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นภัยคุกคามที่ว่านี้ จึงได้ทรงคิดค้นหาวิธีการแก้ไข และในที่สุดก็ทรงค้นพบและบอกให้ประชาชนคนไทยได้เรียนรู้และปฏิบัติตาม เพื่อกู้และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ในสังคมของเรา

* - ข้อค้นพบที่ว่านั้น เมื่อนำมาสรุปรวมแล้ว เรียกว่า "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" คือ วิธีรู้ วิธีคิด และวิธีปฏิบัติเพื่อพัฒนาตนของทุกคน ทุกอาชีพ ทุกชุมชน เพื่อความอยู่ดีมีสุขร่วมกันของทุกคน เรียกคืนความดีงามที่เราเคยมีอยู่กลับมาและค้นหาทางเดินที่ถูกต้องกันใหม่ โดยการศึกษาให้มีความรู้จริงในสิ่งที่มี สิ่งที่ทำ ให้มีคุณธรรม คือ ความขยัน อดทน ซื่อสัตย์ สุจริต มีความรู้ ความคิด และการกระทำที่พอประมาน พอดี มีเหตุมีผล มีการระวังตน ไม่ประมาท รู้จักระวังภัยในชีวิต

-  การรู้ การคิด และการกระทำลักษณะนี้แหละเรียกว่า การปฏิบัติตามปรัชญาความคิดเศรษฐกิจพอเพียง
หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ผู้รู้ทั้งหลายนำมาพูดมาสอนกันขณะนี้มีโดยสรุป ดังนี้

  ๑. ให้ทุกคน ทุกชุมชนดำเนินชีวิตไปในทางสายกลาง ซึ่งเป็นแนวทางที่ปราชญ์ทั้งปลาย เขาสอนกันมานาน เช่น พระพุทธเจ้าก็สอนเรื่องนี้ที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทาหรือ มัชเฌนธรรม คือ มรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฐิ คือ ความเห็นถูกเห็นชอบ เป็นต้น

 ๒. หลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ ความพอประมาณ พอดี ความมีเหตุผล ความมีภูมิคุ้มกัน ผลกระทบทั้งจากภายนอกและภายใน

 ๓. เป้าประสงค์ คือ ให้เกิดความสมดุล และพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากภายนอกได้เป็นอย่างดี

 ๔.  เงื่อนไข โดย ๑.) จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจให้มีสำนึกในคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ๒.) ดำเนินชีวิตด้วยความอดทนมีความเพียร มีสติ และความรอบคอบ ๓.) จะต้องอาศัยความรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผน และดำเนินการทุกขั้นตอน


ทั้งหมดนี้สรุปให้สั้นได้ดังนี้

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนพัฒนาฉบับ ๑๐, ๒๕๕๐: หน้า ๓๔

-นี้คือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามตำรา หรือทฤษฎี ที่นี้พวกเราซึ่งเป็นชาวบ้าน ชาวเมือง จะเรียนรู้ให้เข้าใจ เข้าถึง และนำมาปฏิบัติพัฒนาตน พัฒนาครอบครัว พัฒนาชุมชนกันอย่างไร
-เรื่องนี้เราต้องช่วยกันเรียน ช่วยกันรู้ ช่วยกันคิด และช่วยกันทำ...ตามความเห็นของผู้พูด (ผู้เขียน) มองเห็นว่า เราทำได้โดยปฏิบัติตามแนวทางต่อไปนี้

๑.) ทำตามสิ่งดีงามทั้งหลายที่มีอยู่แล้วในชุมชนของเรา
๒.) แสวงหาสิ่งดี ๆ ที่ไม่มีในชุมชนเราเข้ามาเสริม
๓.) ส่วนไหนที่เห็นว่า สามารถผสมผสานกันได้ก็ผสมผสานกันให้เกิดพลังมากขึ้น
๔.) ขยันพูด ขยันคุยกันให้มากขึ้นในเรื่องการแก้ปัญหาและพัฒนาชีวิต ครอบครัว ชุมชนของเรา
๕.) ชวนพรรคชวนพวกไปพบปะดูกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชนอื่นที่เขาทำอะไรดี ๆ เพื่อนำมาคิดมาทำในชุมชนของเรา
๖.) ฝึกทำ ฝึกพูด ฝึกคิด และฝึกรู้อยู่เสมอ
๗.) เรื่องใดที่ยังไม่รู้ ไม่เข้าใจ ก็หาใครมาพูดมาอธิบายให้ฟัง

หากท่านทำได้ทั้ง ๗ เรื่องนี้ นั่นแหละคือการเดินทางสู่ดินแดนแห่งความพอเพียง หรือได้เริ่มนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้แล้ว จึงเห็นได้ว่า แท้จริงแล้วปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงก็คือ ปรัชญาชีวิตที่พอเพียง เพราะปรัชญา เป็นความรักความรู้ที่จะนำสู่การพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้น เจริญขึ้น นั่นเอง

การออมกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสัมพันธ์กันอย่างไร?
การออม คือ กิจกรรมหนึ่งของการเรียนรู้ การปฏิบัติพัฒนาชีวิตตามแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จะเห็นได้ว่า การออม นั้นคือการรู้ การคิด การปฏิบัติ ที่มุ่งให้เกิดการประหยัด การถนอม การสงวน ทั้งชีวิต สิ่งของและทรัพยากรธรรมชาติที่เรามีที่เราหาได้ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือเป็นปัจจัยการดำรงชีวิตและพัฒนาชีวิตให้เจริญไม่ตกอยู่ในความประมาทขาดสติ
ความรู้ ความคิด และการปฏิบัติ ดังว่านี้ ก็คือ ความรู้ ความคิด และการปฏิบัติ ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นั่นเอง จะเห็นได้ว่า ในกระบวนการออมทุกประเภทนั้นจะเน้นที่สัจจะซึ่งเป็นตัวคุณธรรม จริยธรรม เน้นที่ความซื่อสัตย์สุจริต เน้นที่ให้ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ เน้นให้รู้จักความพอดี พอประมาณ มีเหตุผล ทั้งการทำ การพูด และการคิด

ทั้งหมดนี้ก็คือ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง



*******
๓. เรื่องการทำบัญชีครัวเรือน

การทำบัญชีเป็นกิจกรรมเรียนรู้อย่างหนึ่ง

-  การทำบัญชี จึงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ การศึกษา การฝึกตน เพื่อให้เกิดการปฏิบัติพัฒนาความรู้ ความคิด และการปฏิบัติที่ถูกต้อง ก่อความเจริญทั้งในด้านอาชีพหรือเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เป็นต้นได้

-  การทำบัญชี คือ การจดบันทึก ข้อมูลเกี่ยวกับเงื่อนไขปัจจัยในการดำรงชีวิตของเรา ในครอบครัวของเรา ชุมชนของเรา และประเทศของเรา
ข้อมูลที่ได้จากการบันทึกจะเป็นตัวบ่งชี้อดีตปัจจุบันและอนาคตของชีวิตเรา เราสามารถนำข้อมูลอดีตมาบอกปัจจุบันและอนาคตของเราได้ ข้อมูลที่ได้ที่บันทึกไว้

จะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนชีวิตและกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิต ในครอบครัว ในชุมชน ในประเทศของเราได้
- บัญชีครัวเรือน มิได้หมายถึง การทำบัญชีหรือบันทึกรายรับรายจ่ายประจำวันเท่านั้น แต่อาจหมายถึงการบันทึกข้อมูลด้านอื่น ๆ ในชีวิต ในครอบครัว เป็นต้น ของเราได้ด้วย เช่น บัญชีทรัพย์สิน พันธุ์พืช พันธุ์ไม้ ในบ้านเราในชุมชนเรา บัญชีความรู้ความคิดของเรา บัญชีผู้ทรงคุณ ผู้รู้ในชุมชนเรา บัญชีเด็กและเยาชนของเรา บัญชีภูมิปัญญาด้านต่าง ๆ ของเรา เป็นต้น หมายความว่า สิ่งหรือเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตของเรา เราจดบันทึกได้ทุกเรื่อง ท่านลองคิดดูทีว่า ถ้าเราทำได้ ผลดีจะเกิดขึ้นกับตัวเรา ครอบครัวเรา ชุมชนเรา ประเทศเราได้มากแค่ไหน

ตัวเรา ครอบครัวเรา ชุมชนเรา...ประเทศเรา ก็จะเป็นคนเรียนรู้ ครอบครัวเรียนรู้ ชุมชนเรียนรู้ และประเทศเรียนรู้การเรียนรู้เป็นที่มาของปัญญาปัญญาเป็นที่มาของความเจริญทั้งกาย สังคม ใจ และจิตวิญญาณของมนุษย์จะเห็นว่า การทำบัญชี หรือการจดบันทึกนี้สำคัญยิ่งใหญ่ขนาดไหนบุคคลสำคัญ? เช่น ท่านพุทธทาส ในหลวง สมเด็จพระเทพ เป็นต้น ล้วนเป็นนักบันทึกทั้งสิ้น
การบันทึก คือ การเขียน เมื่อมีการเขียนก็มีการคิด เมื่อมีการคิดก็ก่อปัญญา เมื่อเกิดปัญญา เราก็มองเห็นเหตุเห็นผล เมื่อเห็นเหตุเห็นผล เราก็จะคิดจะทำให้ถูกตามเหตุตามผล เมื่อทำ พูด คิด ได้ถูกเหตุถูกผล นั่นคือ ทางเจริญของเรา

-  การทำบัญชีครัวเรือนในด้านเศรษฐกิจ หรือการบันทึกรายรับรายจ่ายที่ทางราชการพยายามส่งเสริมให้เราได้ทำกัน นั่น เป็นเรื่องการบันทึกรายรับรายจ่ายประจำวันประจำเดือนว่า เรามีรายรับจากอะไรบ้าง จำนวนเท่าใด มีรายจ่ายอะไรบ้าง จำนวนเท่าใด ในแต่ละวัน สัปดาห์ เดือน และ ปี เพื่อจะได้เห็นภาพรวมว่า เรารับเท่าใด จ่ายเท่าใด เหลือเท่าใด หรือเกิน คือ จ่ายเกินรับเท่าใด รายการใดจ่ายน้อยจ่ายมาก จำเป็นน้อยจำเป็นมาก จำเป็นน้อย อาจลดลง จ่ายเฉพาะที่จำเป็นมาก เช่น ซื้อกับข้าว ซื้อยา ซื้อเสื้อผ้า ซ่อมแซมบ้าน การศึกษา เป็นต้น เท่าใด ซื้อบุหรี่ ซื้อเหล้า เข้าบาร์ บ้าหวย เป็นต้น จำนวนเท่าใด เมื่อนำมาบวกลบคุณหารกันแล้วขาดดุลเกินดุลไปเท่าใด เมื่อเห็นตัวเลข เราก็อาจคิดได้ว่าไอ้สิ่งไม่จำเป็นนั้นมันก็จ่ายเยอะ ลดมันได้ไหม เลิกมันได้ไหม ถ้าไม่ลดไม่เลิกมันจะเกิดอะไร กับเรากับครอบครัวเรา กับประเทศเรา ถ้าคิดได้ ก็เท่ากับว่า รู้จักความเป็นคนได้พัฒนาตนเอง ให้เป็นคนมีเหตุมีผล เป็นคนรู้จักพอประมาณ เป็นคนรักตนเอง รักครอบครัว รักชุมชน และรักประเทศชาติมากขึ้น

จึงเห็นได้ว่า การทำบัญชีครัวเรือน ในเรื่องรายรับรายจ่ายก็ดี เรื่องอื่น ๆ ก็ดี ก็คือวิถีแห่งการเรียนรู้เพื่อพัฒนาชีวิต ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นั่นเอง
เพราะปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ ปรัชญาชีวิตที่ถูกต้องเหมาะสม พอดี สอดคล้องถูกต้องตามกฎธรรมชาติที่มีทั้งความเป็นเอกภาพและดุลยภาพอยู่เสมอ เป็นกลาง ไม่เอียง ไม่อคติ เข้าข้างใคร หรือข้างไหน เป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น
เอกภาพและดุลยภาพนี้เอง คือ เครื่องค้ำจุนให้โลกนี้อยู่รอดได้ก้าวเดินต่อไปได้ ชีวิตคน สังคม ชุมชน ประเทศเรา ก็อยู่ภายใต้กฎนี้ เราจึงต้องศึกษากฎนี้ให้รู้ ให้เข้าใจ และนำมาประพฤติปฏิบัติให้ได้ ความเจริญก็จะบังเกิดแก่เราตลอดไป
การศึกษา คือ การพัฒนาชีวิต ภายใต้การออม ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการทำบัญชีครัวเรือน ก็มีความสำคัญและเป็นอยู่เป็นไปดังที่ว่ามาค่อนข้างจะยืดยาวนี้เอง


******
สัจกวี - การศึกษา คือ ชีวิต
******


การศึกษา คือ อะไรใครรู้บ้าง
มาช่วยสร้าง ความคิด ติดเหตุผล
ให้หมู่เรา เผ่าไทย ไม่วกวน
ได้พาตน พัฒนา สถาพร


การศึกษา คือชีวิต จิตกำหนด
จงจ่อจดความจริงสิ่งพระสอน
เป็นเรื่องกาย เรื่องจิตคิดขั้นตอน
ให้แน่นอน พัฒนาพาเจริญ


ให้ฝึกกาย ฝึกจิต ให้คิดนึก
ให้ตรองตรึกในคุณค่า น่าสรรเสริญ
ให้รู้ทั่ว รู้แท้ แลเพลิดเพลิน
ให้ประเมิน การกระทำนำชีวา


อันการออม ยอมทำ ช่วยนำกิจ
พาชีวิตปลอดภัย ไม่กังขา
ออมชีวิต ออมสิ่งของ ที่ต้องตา
ออมข้าวปลา ทรัพยากร คลายร้อนรน


รู้จักกิน รู้จักอยู่ รู้จักใช้
เก็บไว้ให้ด้วยดี มีเหตุผล
เมื่อจำเป็น เห็นดี มีมงคล
เครื่องช่วยดลให้สุข คลายทุกข์ใจ


เศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสียงเรียก
ให้สำเหนียง ในธรรมนำสดใส
ให้รู้เหตุรู้ผลทุกคนไป
ให้อยู่ในคุณธรรมพระสัมมา


รู้พอดี คิดพอดี ทำพอดี
เป็นตัวชี้สวรรค์ ได้หรรษา
มีซื่อสัตย์ มีอดทน มีปัญญา
ช่วยนำพาเราให้ คลายกังวน


อันบัญชี ครัวเรือน ช่วยเตือนจิต
ได้ความคิด ช่วยให้ ไม่สับสน
รู้อดีต รู้ปัจจุบันได้ ในบัดดล
เป็นจักรกล อนาคต ปลดรำคาญ


นี้คือเส้นทาง ช่วยสร้างชาติ
ให้องอาจ ยิ่งใหญ่ แผ่ไพศาล
เราคนไทย จะได้อยู่ คู่จักรวาล
หมดซมซาน ทุกข์เข็น เป็นสุขเอย


**********

0 ความคิดเห็น:

  © ขอขอบคุณ Blogger template 'Ultimatum' by s-hatcore ๒๕๕๐ : s-hatcore

กลับขึ้นข้างบน : Back to TOP