วันเสาร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2551

เรื่องนายพรานสุนัขชื่อโกกะ

นายพรานสุนัขชื่อโกกะ

(ข้อความเบื้องต้น)
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภนายพรานสุนัขชื่อโกกะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า “โย อปฺปทุฏฺฐสฺส นรสฺส ทุสฺสติ” เป็นต้น ฯ

(นายพรานพบพระเถระเที่ยวบิณฑบาต)
ได้ยินว่า เวลาเช้าวันหนึ่ง นายพรานนั้นถือธนู มีสุนัขห้อมล้อมออกไปป่า พบภิกษุถือบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่ง กำลังเที่ยวบิณฑบาตในระหว่างทาง โกรธแล้ว พลางคิดว่า “เราพบคนกาฬกัณณี วันนี้จักไม่ได้สิ่งอะไรเลย” ดังนี้ จึงหลีกไป ฯ ฝ่ายพระเถระเที่ยวบิณฑบาตในหมู่บ้าน ทำภัตกิจแล้วจึงกลับไปสู่วิหารอีก ฯ

(นายพรานให้สุนัขกัดพระเถระ)
ฝ่ายนายพรานนอกนี้ เที่ยวไปในป่าไม่ได้อะไร ๆ เมื่อกลับมาก็พบพระเถระอีก จึงคิดว่า “วันนี้ เราพบคนกาฬกัณณีนี้แล้ว ไปป่าจึงไม่ได้อะไร ๆ บัดนี้เธอได้มาเผชิญหน้าของเราแม้อีก เราจักให้สุนัขทั้งหลายกัดพระรูปนั้นเสีย” ดังนี้แล้ว จึงให้สัญญาปล่อยสุนัขไป ฯ
พระเถระอ้อนวอนว่า “อุบาสก ท่านอย่าทำอย่างนั้น” ฯ เขาร้องบอกว่า “วันนี้ ข้าพเจ้าไม่ได้อะไร เพราะประสบท่าน ท่านก็มาประสบข้าพเจ้าแม้อีก ข้าพเจ้าจักให้สุนัขกัดท่าน” ดังนี้แล้ว ยุสุนัข (ให้กัด) ฯ พระเถระรีบขึ้นต้นไม้ต้นหนึ่งโดยเร็ว นั่งในที่สูงชั่วบุรุษหนึ่ง ฯ สุนัขทั้งหลายก็พากันล้อมต้นไม้ไว้ ฯ

(นายพรานแทงพระเถระ)
นายโกกะไปแล้ว ร้องบอกว่า “ท่านแม้ขึ้นต้นไม้ก็ไม่มีความพ้นไปได้” ดังนี้แล้ว จึงแทงพื้นเท้าของพระเถระด้วยปลายลูกศร ฯ พระเถระได้แต่อ้อนวอนว่า “ขอท่านอย่าทำเช่นนั้น” ฯ นายโกกะนอกนี้ไม่คำนึงถึงคำอ้อนวอนของท่าน กลับแทงกระหน่ำใหญ่ ฯ พระเถระเมื่อพื้นเท้าข้างหนึ่งถูกแทงอยู่ จึงยกเท้านั้นขึ้น หย่อนเท้าที่ ๒ ลง ฯ แม้เมื่อเท้าที่ ๒ นั้นถูกแทงอยู่ จึงยกเท้านั้นขึ้นเสีย ฯ นายโกกะไม่คำนึงถึงคำอ้อนวอนของพระเถระ แทงพื้นเท้าทั้ง ๒ แล้วด้วยอาการอย่างนี้เทียว ฯ สรีระของพระเถระได้เป็นประดุจถูกรมด้วยคบเพลิง ฯ ท่านเสวยเวทนาไม่สามารถจะคุมสติไว้ได้ จีวรที่ท่านห่มแม้หลุดลงก็กำหนดไม่ได้ ฯ จีวรนั้น เมื่อตกลง ก็ตกลงมาคลุมนายโกกะ (นั่นแหละ) ตั้งแต่ศีรษะทีเดียว

(ฝูงสุนัขรุมกัดนายพราน)
เหล่าสุนัขตรูกันเข้าไปในระหว่างจีวร ด้วยสำคัญว่า “พระเถระตกลงมา” ดังนี้แล้วก็รุมกันกัดกินเจ้าของ ๆ ตน ทำให้เหลืออยู่เพียงกระดูก ฯ สุนัขทั้งหลายออกมาจากระหว่างจีวรแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ภายนอก ฯ ทีนั้น พระเถระจึงหักกิ่งไม้แห้งกิ่งหนึ่งขว้างสุนัขเหล่านั้น ฯ เหล่าสุนัขเห็นพระเถระแล้ว รู้ว่า “พวกตัวกัดกินเจ้าของเอง” จึงหนีเข้าป่า ฯ

(พระเถระสงสัยในศีลและสมณภาพของตน)
พระเถระเกิดความสงสัยขึ้นว่า “บุรุษนั่นเข้าสู่ระหว่างจีวรของเราฉิบหายแล้ว ศีลของเราไม่ด่างพร้อยหรือหนอ ?” ท่านลงจากต้นไม้แล้ว ไปสู่สำนักของพระศาสดา กราบทูลเรื่องราวนั้นตั้งแต่ต้นแล้ว ทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อุบาสกนั้น อาศัยจีวรของข้าพระองค์ฉิบหายแล้ว ศีลของข้าพระองค์ไม่ด่างพร้อยแลหรือ ?” สมณภาพของข้าพระองค์ ยังคงมีอยู่แลหรือ ?” ฯ

(พระศาสดาทรงรับรองศีลและสมณภาพ)
พระศาสดาทรงสดับถ้อยคำของพระเถระนั้นแล้ว ตรัสว่า “ภิกษุศีลของเธอไม่ด่างพร้อย สมณภาพของเธอยังมีอยู่ เขาประทุษร้าย ต่อเธอผู้ไม่ประทุษร้าย จึงถึงความพินาศ ทั้งมิใช่แต่ในบัดนี้อย่างเดียวเท่านั้น แม้ในอดีตกาล เขาก็ประทุษร้ายต่อผู้ไม่ประทุษร้ายทั้งหลาย ถึงความพินาศแล้วเหมือนกัน” ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น ทรงนำอดีตนิทานมา (ตรัสว่า)


(บุรพกรรมของนายพราน)
“ดังได้สดับมา ในอดีตกาล หมอผู้หนึ่งเที่ยวไปถึงหมู่บ้าน เพื่อต้องการประกอบเวชกรรม ไม่ได้กรรมอะไร ๆ อันความหิวรบกวนแล้ว ออกไปพบเด็ก ๆ เป็นอันมาก กำลังแล่นอยู่ที่ประตูบ้าน จึงคิดว่า ‘เราจักให้งูกัดเด็กเหล่านี้แล้วรักษา ก็จักได้อาหาร’ ดังนี้แล้ว จึงแสดงงูนอนชูศีรษะในโพรงไม้แห่งหนึ่ง บอกว่า ‘แน่เจ้าเด็กผู้เจริญทั้งหลาย นั่นลูกนกสาลิกา พวกเจ้าจงจับมัน ฯ
ทันใดนั้น เด็กน้อยคนหนึ่ง จับงูที่คิดอย่างมั่นดึงออกมา รู้ว่ามันเป็นงู จึงร้องขึ้น สลัดไปบนกระหม่อมของหมอผู้ยืนอยู่ไม่ไกล ฯ งูรัดก้านคอของหมอกัดอย่างถนัด ให้ถึงความสิ้นชีวิตในที่นั้นนั่นเอง ฯ นายโกกะพรานสุนัขนี้ แม้ในกาลก่อนก็ประทุษร้ายต่อคนผู้ไม่ประทุษร้าย ถึงความพินาศแล้วอย่างนี้เหมือนกัน” ฯ
พระศาสดา ครั้นทรงนำอดีตนิทานนี้มาแล้ว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
“ผู้ใด ประทุษร้ายต่อนรชนผู้ไม่ประทุษร้าย ผู้
บริสุทธิ์ ไม่มีกิเลสดุจเนิน บาปย่อมกลัวถึงผู้
นั้นซึ่งเป็นคนพาลนั่นเอง เหมือนธุลีอันละเอียด
ที่เขาซัดทวนลมไปฉะนั้น” ฯ

---------------------------------
แก้อรรถ
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปฺปทุฏฺฐสฺส คือผู้ไม่ประทุษร้ายต่อตนหรือต่อสรรพสัตว์ ฯ บทว่า นรสฺส ได้แก่ สัตว์ ฯ บทว่า ทุสฺสติ แปลว่า ย่อมประพฤติผิด ฯ บทว่า สุทฺธสฺส คือผู้ไม่มีความผิดเลย ฯ แม้คำว่า โปสสฺส นี้ ก็เป็นชื่อของสัตว์นั่นเอง โดยอาการอื่น ฯ
บทว่า อนงฺคณสฺส คือผู้ไม่มีกิเลส ฯ คำว่า ปจฺเจติ ตัดบทเป็น ปฏิ-เอติ (แปลว่า ย่อมกลับถึง) ฯ
บทว่า ปฏิวาตํ เป็นต้น ความว่า ธุลีที่ละเอียด อันบุรุษผู้หนึ่งซัดไป ด้วยความเป็นผู้ใคร่ประหารคนผู้ยืนอยู่ในที่เหนือลมย่อมกลับถึงบุรุษนั้นเอง คือตกลงที่เบื้องบนของผู้ซัดไปนั้นเอง ฉันใด บุคคลใด เมื่อให้การประหารด้วยฝ่ามือเป็นต้น ชื่อว่าย่อมประทุษร้ายต่อบุรุษผู้ไม่ประทุษร้าย บาปนั้นเมื่อให้ผลในปัจจุบันนี้ หรือในอบายทั้งหลายมีนรกเป็นต้น ในภพหน้า ชื่อว่าย่อมกลับถึงบุคคลนั้นแหละผู้เป็นพาล ด้วยสามารถวิบากทุกข์ ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ
ในกาลจบเทศนา ภิกษุนั้น ดำรงอยู่ในพระอรหัตผล ฯ พระธรรมเทศนาได้มีประโยชน์แม้แก่บริษัทผู้ประชุมกันแล้ว ดังนี้แล ฯ
เรื่องนายพรานสุนัขชื่อโกกะ จบ ฯ

---------------------------------
สรุป
นายพรานชื่อ โกกะ (ชื่อคล้ายขนมญี่ปุ่น) เป็นคนใจคอโหดร้าย นำสุนัขล่าเนื้อเข้าป่า วันนี้ไม่พบสัตว์ใด ๆ เลยเดินไปเดินมา พบพระ รู้สึกหงุดหงิด จึงหลบไปทางอื่น ก็มาจ๊ะเอ๋กับพระอีกยิ่งหงุดหงิดมากยิ่งขึ้นหาว่าพระเป็นตัวขัดลาภ เป็นกาลกิณี
คนใจบาปเห็นพระเป็นมาร เป็นคนชั่วเกินโปรดเป็นคนคดเกินดัด สุดที่รัฐบาลไหนจะมาแก้ไข พรานโกกะเห็นพระโกรธพระ ปล่อยฝูงหมาที่ดุร้ายให้ไล่กัดพระ พระเห็นหมาไล่กวดมาแต่ไกล ไหนเลยจะเดินจงกรมอยู่ได้ เคยขวาย่างหนอซ้ายย่างหนอ สโลว์โมจงกรมอยู่ ก็ต้องวิ่งหน้าตั้งจีวรปลิว วิ่งหนอ ๆ ปีนขึ้นต้นไม้
ฝูงหมาหยุดหอบลิ้นห้อยอยู่ใต้ต้นไม้ เห่ากรรโชก โฮกฮาก ขาตะกุยตะกายโคนต้นไม้ เพราะขึ้นต้นไม้ไม่ได้ นายพรานโกกะใช้หอกปลายแหลมคมทิ่มแทงเท้าพระ พระก็ยกเท้าหนี แทงเท้าซ้ายขวาสลับไปมา เลือดไหลได้ทุกข์ ลุกลี้ลุกลน จนจีวรหลุดลุ่ยลอยปลิวลงมาข้างล่าง ปลิวไปตรงไหนไม่ปลิว ปลิวไปคลุมร่างนายพรานโกกะมิดร่าง
ฝูงสุนัขสมองหมาปัญญากระบือ(ควาย) ไม่ดูตาม้าตาเรือ นึกว่าพระหล่นลงมาแล้ว ก็กระโดดเปลี่ยนทิศทาง รุมกัดนายพรานของตัวเสียชีวิตคาที่
ให้ทุกข์แก่เขา ระวังเราจะเข้าคุก
ให้สุขแก่เขา ตัวเราจะได้สุข

----------
ประยุกต์
----------
หมาเป็นสัตว์ที่ซื่อสัตย์ คือเป็นสัตว์ที่ซื่อ และ ซื่อสัตย์ ผูกมัดใจเจ้าของด้วยหัวใจกตัญญู รู้จักเอาใจ ประจบประแจง เลียแข้งเลียขา เลียหน้าเลียปาก เจ้านายรักเจ้านายหลง บางคนยังเผลอเอาพฤติกรรมอันน่ารักของหมาไปใช้เป็นนิสัยเฉพาะตน จนได้ดีมียศปรากฏชื่อเสียงก้าวหน้ากันเรื่อย ๆ นี่คือธรรมจากหมา
พูดถึงหมา ก็เป็นสัตว์ทีนิยมเลี้ยงมากกว่าแมว มีหลากหลายพันธ์ ล้วนสวยงามไปตามชาตินิยม ของไทย เช่น ไทยหลังอาน เกิดทางภาคตะวันออก จันทบุรี ตราด ระยอง
โดเบอร์แมน พิ้นเชอร์ เป็นหมาเยอรมัน
เชาว์ เชาว์ เป็นหมาจีน
อิงลิช ค็อกเกอร์ เป็นหมาอังกฤษ
เซนต์ เบอร์นาร์ด เป็นหมาสวิสเซอร์แลนด์
อเมริกัน ค็อกเกอร์ เป็นหมาอเมริกา แน่นอน
ดัมเมเชี่ยน เป็นหมายูโกสลาเวีย
มีหมาอีกพันหนึ่งที่เล็กที่สุกในโลก น้ำหนักไม่เกิน ๓ กิโลกรัม พันธ์ ชิวาวา ประเทศเม็กซิโก ส่วนราคาหมาพันธ์ต่าง ๆ ก็หายห่วง คือบอกราคาแล้วหายไปทั้งห่วง หายไปทั้งหมา ถ้าไม่รักจริงหวังแต่ง คงไม่มีใคร่กล้าซื้อไปเลี้ยงแน่นอน เพราะราคาแพงเป็นหมื่นบางตัวเป็นแสน
ในคัมภีร์ จาณกฺยศตก ได้กล่าวถึงคุณของหมาเอาไว้ และยืนยันว่าหมามีธรรมอยู่ ๕ ประการ คือ
๑. กินมากเข้าไว้ (กินง่ายอยู่ง่าย)
๒. ยินดีในของน้อย (สันโดษ)
๓. หลับผล็อยดังใจนึก (ไม่เป็นโรคประสาทเพราะคิดมากจนนอนไม่หลับ)
๔. รู้สึกตัวเร็วรี้ (ว่องไว)
๕. ภักดีต่อเจ้าของ (กตัญญู)
โบราณไทยเรายังมีสำนวนเกี่ยวกับหมาไว้มิใช่น้อย เช่น
๑. ไม่มีมูลหมาไม่ขี้ คือ เรื่องมีจริงเขาถึงพูด
๒. โตจนหมาเลียปากไม่ถึง คือ โตจนป่านนี้แล้วยังไม่ได้เรื่อง
๓. ขี้ไม่ให้หมากิน คือ ตระหนี่ขี้เหนียว
๔. ขี้หมูราขี้หมาแห้ง คือ เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ
๕. กินเผื่อหมา คือ เห็นแก่กิน
๖. อย่างขี้หมูขี้หมา คือ อย่างน้อย ๆ ก็ต้องได้อะไรบ้างละ
๗. หมาเห่าใบตองแห้ง คือ เห็นใครทำอะไรแปลกใหม่ ว่าอย่างเดียว
๘. หมาหมู่ คือ พวกมากชอบรุม
๙. หมาหยอกไก่ คือ ทีเล่นทีจริง แล้วก็งาบจริง ๆ
๑๐. หมาหวงก้าง คือ ตัวเองไม่ได้ประโยชน์ คนอื่นก็อย่าหวังจะได้
๑๑. หมาลอบกัด คือ แอบทำร้ายลับหลัง
ดังที่กล่าวมาจะเห็นว่าไม่ว่าคนหรือสัตว์ หากมีธรรมอยู่ในใจมีความซื่อสัตย์ย่อมมีคนรักใคร่นับถือ ดังคำพระนักเทศน์สำนวนโคราชว่า “มีหมาเป็นหมู่ ดี๋กว่ามีหมู่เป็นหมา”

************

0 ความคิดเห็น:

  © ขอขอบคุณ Blogger template 'Ultimatum' by s-hatcore ๒๕๕๐ : s-hatcore

กลับขึ้นข้างบน : Back to TOP