วันศุกร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2551

พระพิธีธรรม

พระพิธีธรรม
          พระพิธีธรรมเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมราชสำนัก ตกทอดกันมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ พระพิธีธรรมเป็นตำแหน่งและอยู่ในทำเนียบสมณศักดิ์ด้วย เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระพิธีธรรมประจำวัดต่างๆ ๑๒ วัด ต่อมาในภายหลังเหลือเพียง ๑๐ วัดและวัดละ ๔ รูปหรือเรียกว่า "สำรับ" หรือชุดหนึ่ง วัดทั้ง ๑๐ คือ
          ๑. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร
          ๒. วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ราชวรมหาวิหาร
          ๓. วัดสุทัศน์เทพวราราม ราชวรมหาวิหาร
          ๔. วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
          ๕. วัดจักรวรรดิราชาวาส วรมหาวิหาร
          ๖. วัดบวรนิเวศวิหาร
          ๗. วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร
          ๘. วัดราชสิทธาราม
          ๙. วัดประยุรวงศาวาส
          ๑๐. วัดอนงคารามวรวิหาร
          สมัยก่อน บรรดานักสวดและผู้ฟังการสวดต่างยอมรับว่าพระพิธีธรรมจากสำนักวัดราชสิทธารามกับสำนักวัดราชบูรณะฯ (วัดเลียบ-ภายหลังคงขาดพระพิธีธรรม จึงไม่อยู่ในจำนวน ๑๐ วัด) เป็นต้นแบบของการสวดที่คลาสสิก มีเทคนิคแพรวพราว อักขระถูกต้อง ความจริงพระพิธีธรรมจะได้รับมอบหมายให้เป็นพระพิธีธรรม ต้องผ่านการฝึกซ้อมผ่านคัดเลือกจากเจ้าอาวาสวัดนั้น ๆ แล้วให้กรมสังฆการีนำรายชื่อขึ้นกราบบังคมทูลแต่งตั้ง ซึ่งจะได้พัดพระพิธีธรรมสีต่าง ๆ กับนิตยภัตพระราชทานเป็นรายปี
ในพระพิธีธรรมสำรับหนึ่งท่านจะมีพัดต่างสีกัน คือ สีเหลืองของหัวหน้าแม่คู่รูปที่ ๑ มีท่านที่ถือพัดน้ำเงินเคียงแม่คู่รูปที่ ๑ สำหรับท่านที่ถือพัดสีแดงแม่คู่รูปที่ ๒ มีท่านที่ถือพัดสีเขียวเคียงแม่คู่รูปที่ ๒ ธรรมเนียมดั้งเดิมสำหรับพระพิธีธรรม ถ้าจะสึกหาลาเพศจะลาสิกขาทันทีไม่ได้ ต้องสรรหาพระภิกษุรูปอื่นมาฝึกซ้อมจนสามารถปฏิบัติหน้าที่พระพิธีธรรม ทำนองมีตัวแทนกันก่อน สำหรับเจ้าอาวาสผู้เลือกพระที่สวดมนต์คล่อง เสียงดี ออกอักขระถูกถ้วน ซึ่งดูจะเป็นคุณสมบัติพระพิธีธรรม ความจริงยังมีคุณสมบัติอีกประการหนึ่งที่ไม่ได้กำหนดเป็นทางการ คือ เรื่องรูปะลักขณา มีรูปร่างหน้าตาดี มิใช่ยิ้มเหมือนหลอก หยอกเหมือนขู่ เพราะต้องแสดงธรรมท่ามกลางเจ้านายจึงต้องอย่างน้อยให้ดูสบายหูสบายตา มิใช่ปากแหว่ง เพดานโหว่หรือจมูกเป็นชมพู่เน่า
          พระพิธีธรรมต้องผ่านการฝึกสวดพระอภิธรรมดังที่สวดศพสามัญชนทั่วไป คือ การสวดพระธรรม ๗ คัมภีร์ของดั้งเดิม มีวิธีสังเกตแต่ละคัมภีร์จากคำขึ้นต้น
          บทพระสังคินี ขึ้นว่า กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา .......ฯเปฯ
          บทพระวิภังค์ ขึ้นว่า ปญฺจกฺขนฺธา รูปกฺขนฺโธ .....ฯเปฯ
          บทพระธาตุกถา ขึ้นว่า สงฺคโห อสงฺคโห ...ฯเปฯ
          บทว่าด้วยบุคคลบัญญัติ บุคคลเข้าถึงธรรมะอย่างไร ขึ้นว่า ฉ ปญฺญตฺติโย ....ฯเปฯ
          บทว่าด้วยกถาวัตถุ ขึ้นว่า ปุคคโล .....ฯเปฯ
          บทว่าด้วยยมก ธรรมบางอย่างมีกุศล และอกุศลเป็นเค้ามูล ขึ้นว่า เย เกจิ กุสลา ธมฺมา ...ฯเปฯ
          บทว่าด้วยปัฏฐาน เหตุและปัจจัยของสัตว์บุคคล ตัวตน เรา เขา ทั้งหลาย ขึ้นต้นว่า เหตุปจฺจโย ...ฯเปฯ
          พระคัมภีร์ ๗ บทดังกล่าวนี้ท่านที่สวดศพเป็นประจำย่อมชำนาญ กระนั้นพระทั่วไปยังเป็นพระพิธีธรรมไม่ได้ เพราะพระพิธีธรรมนอกจากชำนาญการสวดพระคัมภีร์ทั้ง ๗ บทแล้ว สำหรับพระพิธีธรรมต้องสวดบทที่แต่งเพิ่มขึ้นเรียกว่าพระธรรมใหม่ ดังขึ้นต้นบทว่า "อาสะวาธัมมา" กับขึ้นต้นบทว่า "สัญโญชนา ธัมมา" โดยใช้สวดคู่กับพระธรรม ๗ บทดั้งเดิม ส่วนทำนองสวด โดยลีลาการสวดศพทั่วไปใช้ทำนองร้อยแก้วหรือสังโยค แต่ทำนองสวดของพระพิธีธรรม มีลีลาและชื่อเรียกเฉพาะว่าทำนองกะ ทำนองเลื่อนและทำนองลากซุง สำหรับการยกย่องดั้งเดิมเช่นที่ยกย่องพระพิธีธรรมวัดราชสิทธารามว่าเป็นสำนักราชครูนั้น คงเนื่องด้วยพระภิกษุวัดราชสิทธารามสมัยก่อนเป็นพระชาวกรุงศรีอยุธยา ดังสมเด็จพระญาณสังวรรูปแรกที่เรียกว่าสังฆราชไก่เถื่อน (ไก่เชื่องเพราะบารมีเมตตา) ก็อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยา
          เมื่อกล่าวถึงพระพิธีธรรมมาแล้วข้างต้น น่าจะกล่าวให้สิ้นกระแสความ มิฉะนั้นอาจเข้าใจผิดว่าพระพิธีธรรมคือพระในการพิธีสวดศพที่รับพระบรมราชานุเคราะห์ เป็นพระในงานอวมงคลเท่านั้น แท้ที่จริงยังมีพระพิธีธรรมผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการอันเป็นมงคลด้วย คือ เจริญพระพุทธมนต์ทำน้ำมนต์ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก ทำน้ำพระพุทธมนต์ในการพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา การเจริญพระพุทธมนต์สวดพระปริตร นั้น ส่วนหนึ่งเจ้าพนักงานจะอัญเชิญน้ำพระพุทธมนต์ ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อสรงพระพักตร์เป็นประจำ ทั้งนี้อาราธนาพระภิกษุ ๙ สำรับ เจริญพระพุทธมนต์ที่หอพระศาสตราคม เรียกว่าสวดจตุรเวท ในจำนวนพระภิกษุดังกล่าวมี ๒ สำรับเป็นภิกษุชาวไทย สำรับหนึ่ง ๔ รูปกับภิกษุเชื้อสายมอญสำรับหนึ่ง ๔ รูป ทั้งสองฝ่ายได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครู โดยมีราชทินนามต่างกัน ฝ่ายไทย ประกอบด้วยพระครูอุดมสังวร พระครูอมรวิชัย พระครูปริตโกศล และพระครูพุทธมนต์ปรีชาฝ่ายมอญ ประกอบด้วยพระครูราชสังวร พระครูสุนทรวิลาส พระครูราชปริต และพระครูสิทธิเดชะ การที่พระเชื้อสายมอญมีบทบาทเป็นพระพิธีธรรมสำหรับเจริญพระพุทธมนต์เพื่อทำน้ำพระพุทธมนต์ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะเป็นคติประเพณีสืบเนื่องมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา ด้วยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเจ้า ทรงเลื่อมใสพระมหาเถรชาวมอญผู้เป็นพระอาจารย์ตั้งแต่ยังอยู่พม่าคงจบเรื่องพระพิธีธรรมแต่เพียงนี้



          ในอดีตแต่เดิมมานั้น เมื่อพระสงฆ์ที่ได้รับการฝึกหัดทำนองสวดพระธรรมทั้งที่เป็นบทพระธรรมเดิมและบทพระธรรมใหม่จนเกิดความชำนาญแล้ว เจ้าอาวาสจึงจัดทำบัญชีรายชื่อ อายุ พรรษาของพระสงฆ์เหล่านั้นรวม ๔ รูปพร้อมกับระบุไปว่า ภิกษุรูปใดเป็นหัวหน้าแล้วส่งไปยังกรมสังฆการี(แผนกเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับสงฆ์ในงานพิธีหลวง ซึ่งเป็นส่วนงานของกรมการศาสนา ปัจจุบันเจ้าพนักงานสังฆการีนี้ถูกยกเลิกไปแล้ว) สังฆการีจะได้นำขึ้นทูลเกล้าเพื่อขอรับพระราชทานพัดอันเป็นเครื่องหมายตำแหน่งพระพิธีธรรม พร้อมทั้งเงินนิตยภัต(ค่าภัตตาหารที่ถวายแก่ภิกษุสามเณรเป็นประจำ/เงินเดือน)ซึ่งโปรดเกล้าได้ตั้งไว้ในหมวดพระราชกุศลเพื่อเบิกจ่ายถวายต่อไป พัดพระพิธีธรรมมี ๔ ด้าม มีลักษณะเป็นพัดหน้านาง มีพื้นสีต่างๆ กันซึ่งบ่งบอกถึงตำแหน่งลำดับของการนั่ง เช่น
          สีเหลือง สำหรับหัวหน้าแม่คู่รูปที่ หนึ่ง (รูปที่เป็นต้นเสียง)
          สีแดง สำหรับแม่คู่รูปที่ สอง
          สีน้ำเงิน สำหรับเคียงแม่คู่รูปที่ หนึ่ง
          สีเขียว สำหรับเคียงแม่คู่รูปที่ สอง
          ตรงใจกลางของพัดพระพิธีธรรม มีมุกแกะสลักเป็นตัวอักษรว่า “ พิธีธรรม ” ฝังไว้ ด้านปลายของพัดจะเป็นหัวบัวยอดแหลม เดิมทำด้วยงา ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นวัสดุคล้ายงาแทน ส่วนด้ามเป็นไม้
          ปัจจุบันนี้ การแต่งตั้งพระพิธีธรรมเป็นหน้าที่ของเจ้าอาวาสที่จะเสนอรายชื่อพระที่ ได้รับการฝึกหัดทำนองสวดพระธรรมทั้งที่เป็นบทพระธรรมเดิมและบทพระธรรมใหม่จนเกิดความชำนาญแล้ว โดยจัดทำบัญชีรายชื่อ อายุ พรรษาของพระสงฆ์เหล่านั้นรวม ๔ รูปพร้อมกับระบุไปว่า ภิกษุรูปใดเป็นหัวหน้าแล้วส่งไปยัง สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อทราบและจัดนิตยภัตถวายเป็นรายเดือน เพียงเท่านี้ พระพิธีธรรมก็นับได้ว่าเป็นผู้ได้รับการแต่งตั้งแล้ว  อย่างไรก็ตาม พระพิธีธรรมที่จะถือพัดในพิธีหลวงสามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดยไม่ต้องแต่งตั้งใหม่ หมายความว่า วัดที่มีพระพิธีธรรมสามารถมีมากกว่า ๔ รูปก็ได้ เมื่อเวลาที่จะไปในพิธีหลวงมาถึง พระพิธีธรรมจากวัดนั้นๆจะไปในการพิธีหลวงเพียงวัดละ ๑ สำรับ คือ ๔ รูปเท่านั้น
          โดยทั่วไปการนั่งสวด พระพิธีธรรมจะนั่งตามลำดับเป็นแถวเรียงหน้ากระดาน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานที่ซึ่งอาจจะต้องนั่งหันหน้าเข้าหากันตามที่ปรากฏในสื่อสาธารณะและที่ทราบกันโดยทั่วไปมี ๒ แบบ คือ
          ๑. นั่งตามลำดับสีพัด คือ
                    สีเหลือง สำหรับหัวหน้าแม่คู่รูปที่ หนึ่ง
                    สีแดง สำหรับแม่คู่รูปที่ สอง
                    สีน้ำเงิน สำหรับเคียงแม่คู่รูปที่ หนึ่ง
                    สีเขียว สำหรับเคียงแม่คู่รูปที่ สอง
          ๒. การนั่งสวดบนซ่าง(เตียงสวด) เช่น เตียงสวดบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทใน พระบรมมหาราชวัง ดังนี้
                    สีน้ำเงิน สำหรับเคียงแม่คู่รูปที่ หนึ่ง
                    สีเหลือง สำหรับหัวหน้าแม่คู่รูปที่ หนึ่ง
                    สีแดง สำหรับแม่คู่รูปที่ สอง
                    สีเขียว สำหรับเคียงแม่คู่รูปที่ สอง
                    สีเหลืองและสีแดงนั่งตรงกลาง สีน้ำเงินและสีเขียวนั่งขนาบขวาซ้าย

          ส่วนการนั่งสดับปกรณ์ และ การรับพระราชทานฉันภัตตาหาร นั่งเรียงตามลำดับ ดังนี้
                    สีเหลือง สำหรับหัวหน้าแม่คู่รูปที่ หนึ่ง
                    สีแดง สำหรับแม่คู่รูปที่ สอง
                    สีน้ำเงิน สำหรับเคียงแม่คู่รูปที่ หนึ่ง
                    สีเขียว สำหรับเคียงแม่คู่รูปที่ สอง
          การสวดพระธรรมในพิธีหลวง ไม่มีการอาราธนา เมื่อจุดธูปเทียน เครื่องบูชาที่กะบะเครื่อง ๕ หน้าตู้พระธรรมแล้ว ก็เริ่มสวดได้เลย
          ในรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดให้ตั้งพระพิธีธรรมประจำวัดที่เป็นพระอารามหลวง ๑๒ วัดๆ ละ ๔ รูป เรียกว่า ๑ สำรับ ในฝั่งธนบุรี ให้วัดราชสิทธารามเป็นวัดต้น สำหรับจังหวัดธนบุรี  (ปัจจุบันได้รวมเป็นเขตปกครองกรุงเทพมหานครแล้ว)ฝั่งพระนครให้วัดราชบูรณะเป็นวัดต้น ซึ่งวัดต้นทั้งสองวัดนี้เรียกขานในหมู่นักสวดและนักฟังทั่วไปว่า “ สำรับราชครู ” อันมีความหมายว่า ท่วงทำนองในการสวดทุกวรรคทุกตอนที่เป็นของเดิมมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ได้รักษาไว้อย่างครบถ้วนทุกประการ มาในรัชสมัยแห่งรัชกาลที่ ๔ ทรงให้ยุบพระพิธีธรรมวัดราชบูรณะ ทรงให้ตั้งพระพิธีธรรมวัดบวรนิเวศวิหารขึ้นแทน ถึงกระนั้นก็มิได้ทรงโปรดให้อาราธนาพระพิธีธรรมจากวัดบวรนิเวศวิหารไปสวดในงานพระศพหรืองานศพที่อยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์มาจนกระทั่งปัจจุบันนี้แต่อย่างใด

          ปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ในการบำเพ็ญพระราชกุศลกำหนด ๑๐๐วัน พระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงมีรับสั่งให้นิมนต์พระพิธีธรรมจากวัดบวรนิเวศวิหารมาสวดในการนี้ด้วย
          หน้าที่พระพิธีธรรมที่ทรงโปรดแต่งตั้งขึ้นไว้นั้น สำหรับสวดพระบรมศพ พระศพของบรรดาเจ้านายที่เสด็จสวรรคต ทิวงคต สิ้นพระชนม์ และสิ้นชีพตักษัย แม้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณ เมื่อถึงแก่อสัญกรรมและอนิจกรรม ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานบำเพ็ญกุศลอุทิศให้มีผ้าไตรสดับปกรณ์ปากโกศ(พิธีสวดมาติกาบังสุกุลเนื่องด้วยศพ เมื่อแรกนำศพลงบรรจุไว้ในโกศแล้ว ปัจจุบัน คำว่า “ สดับปกรณ์ ” นี้ใช้เฉพาะเจ้านาย) และโปรดให้มีพระพิธีธรรมประจำช่างสวด มีกำหนดวันตามลำดับยศและตำแหน่ง สำหรับพระสงฆ์ที่จะเข้าไปสวดพระบรมศพ และพระศพ เป็นต้นนั้น จะต้องนิมนต์เฉพาะพระพิธีธรรมตามพระอารามหลวงต่างๆ โดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันสวด
          แต่เดิมมา วิธีดำเนินการ คือ เมื่อสำนักพระราชวังได้รับแจ้งจากเจ้าภาพแล้วจะนำเรื่องเข้ากราบบังคมทูลให้ทรงทราบ เมื่อทรงพระกรุณาโปรดฯ แล้ว ทางสำนักพระราชวังจะออกหมายกำหนดการตามที่ได้ทรงรับสั่งส่งไปยังกองสังฆการี ต่อจากนั้นเจ้าหน้าที่สังฆการีจะได้วางฎีกานิมนต์พระพิธีธรรมหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันเข้าสวดตามหมายรับสั่ง หากเป็นพระบรมศพหรือพระศพเจ้านายชั้นสูง มักทรงโปรดฯ ให้นิมนต์พระพิธีธรรมสวด ๒ สำรับ คือกลางวันสำรับหนึ่ง กลางคืนสำรับหนึ่ง มีกำหนดโปรด ๓ วันบ้าง ๗ วันบ้าง หรือมากกว่านั้นทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพระอิสริยยศ และตำแหน่งหน้าที่
          ปัจจุบันวิธีดำเนินการนิมนต์พระพิธีธรรมไปสวดพระธรรมยังคงถือปฏิบัติเหมือนในอดีต ต่างแต่ไม่มีกองสังฆการีเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น โดยสำนักพระราชวังจะแจ้งไปยังกรมการศาสนา กรมการศาสนา โดยฝ่ายพิธี กองศาสนูปถัมภ์จะเป็นผู้วางฎีกานิมนต์พระพิธีธรรม กำหนดวัน เวลา สถานที่ไว้ให้ชัดเจน ฝ่ายพระพิธีธรรมเมื่อได้รับฎีกานิมนต์แล้วก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ผลัดเปลี่ยนหนุนเวียนกันไป
          สำหรับศพของพระสงฆ์ที่ดำรงสมณศักดิ์ชั้นสูง นับตั้งแต่พระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองขึ้นไป ก็ทรงโปรดให้นิมนต์พระพิธีธรรมเข้าสวดมีกำหนดเกณฑ์ ๓ วัน หากพระสงฆ์ชั้นสมเด็จพระราชาคณะ โปรดให้พระพิธีธรรมเข้ามีเกณฑ์กำหนด ๗ วัน และหากเป็นพระศพของสมเด็จพระสังฆราช โปรดให้สวดมีกำหนด ๑๕ วัน ทั้งนี้รวมไปถึงงานออกพระเมรุในเวลาพระราชทานเพลิงก็ทรงโปรดให้อยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ด้วย

หน้าที่ของพระพิธีธรรม
         หน้าที่ของพระพิธีธรรม นอกจากการสวดศพอันเป็นหน้าที่หลัก ซึ่งจะมีเป็นครั้งคราวแล้ว ยังมีกิจที่พระพิธีธรรมจะต้องสวดตลอดทั้งปี คือ การสวดจตุรเวท ทำน้ำพุทธมนต์ ที่หอศาสตราคมในพระบรมมหาราชวังประจำวันพระทั้งข้างขึ้นและข้างแรม พระพิธีธรรมจากวัดทั้ง ๑๐ นี้จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปสวดในเวลา ๑ ทุ่มตรง การสวดทำน้ำพุทธมนต์นี้เป็นของมีมาตามโบราณราชประเพณีครั้งกรุงศรีอยุธยา สำหรับใช้แช่เครื่องราชศาตราวุธให้ข้าราชการทุกหมู่เหล่าได้ดื่มในคราวมีพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา เฉพาะปัจจุบันเจ้าพนักงานจะตักน้ำพุทธมนต์นี้เข้าทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อสรงพระพักตร์เป็นประจำ แม้ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเศกก็ใช้น้ำพุทธมนต์นี้สำหรับโสรจสรงด้วย
          คุณสมบัติของพระพิธีธรรม นอกจากจะเป็นผู้ได้รับการฝึกหัดทำนองการสวดพระธรรมจนมีความถูกต้อง มีเสียงที่ไพเราะแล้ว บุคลิกลักษณะภายนอกก็มีความสำคัญยิ่ง เช่น สุขภาพร่างกายไม่บกพร่อง การรักษาสมณสัญญาตามพระธรรมวินัยเป็นที่น่าเลื่อมใส เพราะเกี่ยวกับการนำตัวเข้าไปอยู่ในพระราชฐานพระราชวัง ซึ่งเต็มไปด้วยข้าราชบริพารน้อยใหญ่ ผู้สูงด้วยเกียรติยศ เกียรติศักดิ์ ที่เฝ้าปฏิบัติหน้าที่ทุกฝ่ายโดยทั่วหน้า ที่สุดแม้ต่อเบื้องพระพักตร์ของพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถและพระบรมวงศานุวงศ์

          ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่หนักใจและยากแก่ท่านเจ้าอาวาสผู้ทำหน้าที่คัดเลือกพระสงฆ์ ตลอดจนพระสงฆ์ผู้ถูกคัดเลือกแล้ว แต่ด้วยความรู้ความสามารถ ฉลาดด้วยธรรมวิธีของท่านเจ้าอาวาสที่ได้พิจารณาอย่างถ่องแท้ และพระภิกษุสงฆ์ ที่ได้รับพระกรุณาโปรดพระราชทานสมณศักดิ์ และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส จะสามารถรับภารธุระในส่วนที่เป็นกิจของคณะสงฆ์อันเกี่ยวเนื่องด้วยพระราชศรัทธาและราชการ จักได้ปฏิบัติกิจดังกล่าวให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี พระพิธีธรรมจึงยังคงมีปรากฏอยู่คู่กับวัฒนธรรมประเพณีไทยจนตราบเท่าจนถึงทุกวันนี้

0 ความคิดเห็น:

  © ขอขอบคุณ Blogger template 'Ultimatum' by s-hatcore ๒๕๕๐ : s-hatcore

กลับขึ้นข้างบน : Back to TOP