วันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ทอดกฐินสามัคคีวัดหนองหว้า ปี ๒๕๕๔


          ประเพณีการทอดกฐินของพุทธศาสนิกชนไทยมีมาช้านาน โดยมีทั้งพิธีหลวงและพิธีราษฎร์ โดยการถวายผ้าพระกฐินของพระมหากษัตริย์จัดเป็นพระราชพิธีที่สำคัญประจำปี ในปัจจุบันถวายผ้ากฐินในแง่การสนับสนุนผ้าไตรจีวรเพื่อใช้ในสังฆกรรมสำคัญของคณะสงฆ์ได้ถูกลดความสำคัญลงไป แต่กลับให้ความสำคัญกับบริวารของกฐินทานแทน เช่น เงิน หรือวัตถุสิ่งของ เพื่อนำสิ่งเหล่านี้มาพัฒนาถาวรวัตถุและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ซึ่งจัดเป็นสังฆทานอย่างหนึ่งเช่นเดียวกัน
          กฐินมีกำหนดระยะเวลาถวาย จะถวายตลอดไปเหมือนผ้าชนิดอื่นมิได้ ระยะเวลานั้นมีเพียง ๑ เดือน คือตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ไปจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ (วันเพ็ญเดือน ๑๒) ระยะเวลานี้เรียกว่า กฐินกาล คือระยะเวลา ทอดกฐิน หรือ เทศกาลทอดกฐิน


ความหมายและความสำคัญของการถวายกฐิน
          ความหมายของกฐิน
          กฐิน เป็นศัพท์บาลี แปลตามศัพท์ว่าไม้สะดึง คือ "กรอบไม้" หรือ "ไม้แบบ" สำหรับขึงผ้าที่จะเย็บเป็นจีวรในสมัยโบราณ ซึ่งผ้าที่เย็บสำเร็จจากกฐินหรือไม้สะดึงแบบนี้เรียกว่า ผ้ากฐิน (ผ้าเย็บจากไม้แบบ)
          กฐิน อาจจำแนกตามความหมายเพื่อความเข้าใจง่ายได้ดังนี้
                    - กฐิน เป็นชื่อของกรอบไม้แม่แบบ (สะดึง) สำหรับทำจีวร ดังกล่าวข้างต้น
                    - กฐิน เป็นชื่อของผ้าที่ถวายแก่พระสงฆ์เพื่อกรานกฐิน (โดยได้มาจากการใช้ไม้แม่แบบขึงเย็บ)
                    - กฐิน เป็นชื่อของงานบุญประเพณีถวายผ้าไตรจีวรแก่พระสงฆ์เพื่อกรานกฐิน
                    - กฐิน เป็นชื่อของสังฆกรรมการกรานกฐินของพระสงฆ์

          ความสำคัญพิเศษแตกต่างจากทานอย่างอื่น
          การถวายกฐินนั้นมีข้อจำกัดหลายอย่าง ซึ่งทำให้การถวายกฐินมีความความพิเศษแตกต่างจากทานอย่างอื่นดังนี้
          ๑. จำกัดประเภททาน คือ ต้องถวายเป็นสังฆทานเท่านั้น จะถวายเฉพาะเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเหมือนทานอย่างอื่นไม่ได้
          ๒. จำกัดเวลา คือ กฐินเป็นกาลทานอย่างหนึ่ง (ตามพระบรมพุทธานุญาต) ดังนั้นจึงจำกัดเวลาว่าต้องถวายภายในระยะเวลา ๑ เดือน นับแต่วันออกพรรษา เป็นต้นไป
          ๓. จำกัดงาน คือ พระภิกษุที่กรานกฐินต้องตัด เย็บ ย้อม และครองให้เสร็จภายในวันที่กรานกฐิน
          ๔.จำกัดไทยธรรม คือ ผ้าที่ถวายต้องถูกต้องตามลักษณะที่พระวินัยกำหนดไว้
          ๕.จำกัดผู้รับ คือ พระภิกษุผู้รับกฐิน ต้องเป็นผู้ที่จำพรรษาในวัดนั้นโดยไม่ขาดพรรษา และจำนวนไม่น้อยกว่า ๕ รูป
          ๖.จำกัดคราว คือ วัด ๆ หนึ่งรับกฐินได้เพียงปีละ ๑ ครั้งเท่านั้น
          ๗.เป็นพระบรมพุทธานุญาต ทานอย่างอื่นทายกทูลขอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาต เช่น มหาอุบาสิกาวิสาขาทูลขออนุญาตผ้าอาบน้ำฝน แต่ผ้ากฐินนี้พระองค์ทรงอนุญาตเอง[1] นับเป็นพระประสงค์โดยตรง




กำหนดการ
          เวลา ๐๙ : ๐๐ น.  พระครูวิสารวรกิจ : เจ้าคณะอำเภอโนนสูง แสดงพระธรรมเทศนา ๑ กัณฑ์
          เวลา ๑๑ : ๐๐ น.  ถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสามเณร
          เวลา ๑๒ : ๓๐ น.  นำองค์กฐินพร้อมทั้งบริวารแห่รอบอุโบสถ ๓ รอบ
          เวลา ๑๓ : ๑๐ น.  ประธานในพิธี จุดธูปเทียน บูชาพระรัตนตรัย
                                      คณะนักเรียนโรงเรียนสุรนารีวิทยา ๒
                                           - แสดงตนเป็นพุทธมามกะ
                                           - นำกราบ สมาทานศีล รับศีล
                                      นายบรรยง  ไม้กลาง : รองนายกเทศมนตรีตำบลด่านคล้า
                                            - นำกล่าวคำถวายผ้ากฐิน
          เวลา ๑๔ : ๐๐ น.  พระครูวิสารวรกิจ : กล่าวสัมโมทนียกถา
                                           - ให้พรเป็นภาษาบาลี
                                       พุทธศาสนิกชน
                                           - กรวดน้ำ / รับพร
                                           - รับของที่ระลึก
                                       เสร็จพิธี


----------------------
ภาพการทอดกฐินสามัคคีวัดหนองหว้า
     สถานที่        : วัดหนองหว้า ตำบลด่านคล้า อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา
     วัน/เดือน/ปี  : วันพฤหัสบดี ที่ ๑๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๔
     เวลา             :  เริ่ม ๐๙ : ๐๐ น. - ๑๔ : ๓๐ น.
-----------------------

พระครูวิสารวรกิจ : เจ้าคณะอำเภอโนนสูง แสดงพระธรรมเทศนา

          พระครูอุดมอรุโณทัย (รุ่งอรุณ  ปณฺฑิโต) : เจ้าคณะตำบลใหม่  ทำหน้าที่พิธีกรประจำ



อาหารการกิน


แห่กฐิน



ถวายกฐิน
นายบรรยง  ไม้กลาง : รองนายกเทศมนตรีตำบลด่านคล้า
ตัวแทนนักเรียนจากโรงเรียนสุรนารีวิทยา ๒
     นำกล่าวคำถวายผ้ากฐิน และบริวาร

          อิมัง ภันเต, สะปะริวารัง, กะฐินะจีวะระทุสสัง, สังฆัสสะ, โอโณชะยามะ, สาธุ โน ภันเต, สังโฆ,
          อิมัง, สะปะริวารัง, กะฐินะทุสสัง, ปะฏิคคัณหาตุ, ปะฏิคคะเหตฺวา จะ, อิมินา ทุสเสนะ, กะฐินัง, อัตถะระตุ, อัมหากัง, ทีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ,
          คำแปล
          ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ผ้ากฐินจีวรกับทั้งบริวารนี้ แก่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับผ้ากฐิน กับทั้งบริวารนี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย รับแล้วจงกราบกฐิน ด้วยผ้านี้ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญ.



อปโลกน์กฐิน
          รูปที่ ๑ [พระเด่นชัย  สุภาจาโร]
          ผ้ากฐินทานกับทั้งผ้าอานิสังสบริวารทั้งปวงนี้ เป็นกฐินสามัคคีจากชลบุรีและนครราชสีมา พร้อมด้วยคณะสงฆ์อำเภอโนนสูง หน่วยงานราชการ พ่อค้า ประชาชนผู้ประกอบด้วยศรัทธา อุตสาหะพร้อมเพรียงกันนำมาถวาย แด่พระภิกษุสงฆ์ผู้อยู่จำพรรษาถ้วนไตรมาสในอาวาสนี้ก็แลผ้ากฐินทานนี้ เป็นของบริสุทธิ์ ดุจเลื่อนลอยมาโดยนภากาศ
          แล้วแลตกลงในทีประชุมสงฆ์ จะได้จำเพาะเจาจงลงว่าเป็นของพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งก็หามิได้ มีพระบรมพุทธานุญาตไว้ว่า ให้พระสงฆ์ทั้งปวงยอมอนุญาตให้แก่ภิกษุรูปหนึ่ง เพื่อจะทำซึ่งกฐินนัตถารกิจ ตามพระบรมพุทธานุญาต และมีคำพระอรรถกถาจารย์ ผู้รู้พระบรมพุทธาธิบายสังวรรณนาไว้ว่า ภิกษุรูปใดประกอบด้วยศีลสุตาธิคุณ มีสติปัญญาสามารถ รู้ธรรม ๘ ประการ มีบุพกิจ เป็นต้น ภิกษุรูปนั้นจึงสมควร เพื่อจะกระทำกฐินนัตถารกิจ ตามพระบรมพุทธานุญาตได้
          บัดนี้ พระสงฆ์ทั้งปวง จะเห็นสมควรแก่ภิกษรูปใด จงพร้อมกันยอมอนุญาตให้แก่ภิกษุรูปนั้น เทอญ.

          รูปที่ ๒ [พระชม  จิตฺตปญฺโญ]
          ผ้ากฐินทาน กับทั้งผ้าอานิสังสบริวารทั้งปวงนี้ ข้าพเจ้าพิจารณาเห็นสมควรแก่ พระครูวิสารวรกิจเป็นผู้มีสติปัญญาสามารถ เพื่อกระทำกฐินนัตถารกิจให้ถูกต้องตามพระบรมพุทธานุญาตได้ ถ้าพระภิกษุรูปใดเห็นไม่สมควรทักท้วงขึ้นในท่ามกลางระหว่างสงฆ์ (หยุดนิดหนึ่ง...............) ถ้าเห็นสมควรแล้วไซร้จงให้สัททสัญญาสาธุการขึ้นให้พร้อมกัน เทอญ.  (พระสงฆ์รับว่า  สาธุ)



พระครูวิสารวรกิจ : กล่าวสัมโมทนียกถา และให้พร


เสร็จพิธีแล้ว......ครับ


สังฆกรรรม
          - กรรมวาจาสวดให้ผ้ากฐิน

          นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
          นะโม ตัสสะ, ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ,
          นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต, อะระหะโต, สัมมาสัมพุทธัสสะ,

          สุณาตุ เม ภันเต สังโฆ, อิทัง สังฆัสสะ กะฐินะทุสสัง อุปปันนัง, ยะทิ สังฆัสสะ ปัตตะกัลลัง, สังโฆ อิมัง กะฐินะทุสสัง อายัสฺมะโต วิสาระทัสสะ ทะเทยยะ, กะฐินัง อัตถะริตุง, เอสา ญัตติ.
          สุณาตุ เม ภันเต สังโฆ, อิทัง สังฆัสสะ กะฐินะทุสสัง อุปปันนัง, สังโฆ อิมัง กะฐินะทุสสัง อายัสฺมะโต วิสาระทัสสะ, เทติ, กะฐินัง อัตถะริตุง, ยัสสายัสฺมะโต ขะมะติ, อิมัสสะ กะฐินะทุสสัสสะ, อายัสมะโต วิสาระทัสสะ ทานัง, กะฐินัง อัตถะริตุง, โส ตุณฺหัสสะ ยัสสะ นักขะมะติ, โส ภาเสยยะ
          ทินนัง อิทัง สังเฆนะ, กะฐินะทุสสัง อายัสฺมะโต วิสาระทัสสะ. กะฐินัง อัตถะริตุง, ขะมะติ สังฆัสสะ ตัสมา ตุณฺหี, เอวะเมตัง ธาระยามิ.

หมายเหตุ  :  วิสาระทัสสะ หมายถึง ชื่อผู้ครองกฐิน



คำกรานกฐิน
          ก่อนจะกรานกฐิน ให้ผู้ครองกฐินเลือกผ้าผืนใดผืนหนึ่งแล้วพึงว่าคำกราน ดังนี้
          ผ้าสังฆาฏิ              ว่า  อิมายะ สังฆาฏิยา กะฐินัง อัตถะรามิ (๓ หน)
          ผ้าอุตตราสงค์       ว่า  อิมินา อุตตะราสังเคนะ กะฐินัง อัตถะรามิ (๓ หน)
          ผ้าอันตรวาสก       ว่า  อิมานา อันตะระวาสะเกนะ กะฐินัง อตถะรามิ (๓ หน)


คำอนุโมทนากฐิน
          อัตถะตัง อาวุโส สังฆัสสะ กะฐินัง ธัมมิโก กะฐินัตถาโร อะนุโมทะถะ (๓ หน )
          บทนี้สำหรับท่านผู้ครองกฐินมีพรรษาแก่กว่าภิกษุทั้งปวง ถ้ามีภิกษุอื่นที่มีพรรษามากกว่าท่านผู้ครองกฐินอยู่ในที่นั้น ให้เปลี่ยนคำว่า อาวุโส เป็น ภันเต

          พระสงฆ์ทั้งปวงเปล่งวาจาอนุโมทนา ดังนี้
          อัตถะตัง ภันเต สังฆัสสะ กะฐินัง ธัมมิโก กะฐินัตถาโร อะนุโมทามะ (๓ หน)
          คำอนุโมทนานี้สำหรับผู้อ่อนพรรษากว่าท่านผู้ครองกฐินกล่าว ถ้ามีภิกษุที่แก่พรรษากว่าท่านผู้ครองกฐินอยู่ในที่นั้น กี่รูปก็ตามให้ผู้แก่เหล่านั้นเปลี่ยนคำว่า ภันเต เป็น อาวุโส หรือจะให้ว่าพร้อมกันเฉพาะผู้แก่เสียคราวหนึ่งก่อน ๓ จบ แล้วจึงให้ผู้อ่อนกว่าว่าอีกคราวหนึ่ง ๓ จบ ก็ได้




--------------------
สถานที่ : วัดหนองหว้า
ถ่ายภาพ / รายงาน : s-hatcore

0 ความคิดเห็น:

  © ขอขอบคุณ Blogger template 'Ultimatum' by s-hatcore ๒๕๕๐ : s-hatcore

กลับขึ้นข้างบน : Back to TOP