วันศุกร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2551

สังคีติยวงศ์

สังคีติยวงศ์


หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยการทำสังคายนาพระไตรปิฎกรวมทั้งสิ้น ๙ ครั้ง ตั้งแต่ครั้งที่ ๑ พ.ศ.๑ จนถึงครั้งที่ ๙ ที่กรุงเทพฯ พ.ศ.๒๓๓๑

ผู้ที่เขียนบันทึกเรื่องการสังคายนาพระไตรปิฎกดังกล่าวนี้คือ พระพิมลธรรม พระเถระผู้ใหญ่ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ซึ่งต่อมาเป็นสมเด็จพระวันรัต วิธีการเขียนคล้ายๆ กับชินกาลมาลีปกรณ์ คือเขียนทำนองพงศาวดาร มีเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ประกอบอยู่เป็นอันมาก หนังสือเล่มนี้แยกเป็นตอนๆ เรียกว่าปริจเฉทหนึ่งๆ รวมทั้งสิ้น ๙ ปริจเฉท และจบลงด้วยปณิธานและอุทิศกถา ทั้งหมดนี้แต่งเป็นภาษาบาลีล้วนๆ และพระยาปริยัติธรรมธาดาแปลเป็นภาษาไทยในรัชกาลที่ ๕


ปริจเฉทที่ ๑ ว่าด้วยสังคายนาในชมพูทวีป ๓ ครั้ง

ประกอบด้วย
๑. นมัสสนกถา คำนมัสการ
๒. อารัมภกถา คำปรารภเบื้องต้น
๓. สังเขปกถา ว่าด้วยสังคีติกถาโดยย่อ
๔. วิตถารกถา ว่าด้วยสังคีติกถาโดยพิสดาร
๕. ปฐมสังคีติกถา ว่าด้วยเรื่องพระมหากัสสปะเถระ ประชุมพระสงฆ์ (อรหันต์) ๕๐๐ ทำสังคายนาครั้งแรก
๖. ทุติยสังคีติกถา ว่าด้วยเรื่องพระยสเถระประชุมพระอรหันต์ ๗๐๐ ทำสังคายนาครั้ง ที่ ๒
๗. ตติยสังคีติกถา ว่าด้วยเรื่องพระโมคคลีบุตรติสสเถระประชุมพระอรหันต์ ๑,๐๐๐ ทำสังคายนา ครั้งที่ ๓


ปริจเฉทที่ ๒ ว่าด้วยสังคายนาในลังกาทวีป ๔ ครั้ง
๑. จตุตถสังคีติกถา ว่าด้วยพระมหินทเถระประชุมพระอรหันต์ทั้งหลายทำสังคายนา ครั้งที่ ๔
๒. ปัญจมสังคีติกถา ว่าด้วยพระภิกษุสงฆ์ประชุมกันสาธยาย พระธรรมวินัยและยกขึ้น สู่ใบลาน นับเป็นสังคายนาครั้งที่ ๕
๓. ปิฎกกัตตยเลขนา ว่าด้วยจารพระไตรปิฎกลงในใบลานนับเป็นสังคายนาครั้งที่ ๖ พระพุทธโฆษะ แปลธรรมลังกา
๔. สัตตมธัมมวินัยสังคห ว่าด้วยการกระทำอัตถวัณณนา นับเป็นสังคายนาครั้งที่ ๗


ปริจเฉทที่ ๓ ชื่อลังกาทีปราชวงศ์ ว่าด้วยการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในลังกาทวีป
๑. พระมหินทเถระให้สามเณรสุมนะ ไปเชิญพระรากขวัญเบื้องขวาจากดาวดึงส์มาสู่ลังกาทวีป
๒. พระสังฆมิตตาเถรี เชิญพระโพธิพฤกษ์มาสู่ลังกา
๓. พระมหินทเถระ เข้าสู่พระนิพพาน
๔. เรื่องประดิษฐานพระทันตธาตุเบื้องขวา
๕. เรื่องพระนลาฏธาตุเสด็จมาลังกา
๖. เรื่องสร้างมหิยังคสถูป
๗. เรื่องสร้างพระมริจจเจดีย์
๘. เรื่องสร้างโลหปราสาท
๙. เรื่องสร้างพระสุวรรณมาลิกเจดีย์
๑๐. โปฏฐการุฬหสังคีติ ว่าด้วยพระอรหันต์ ๗๐๐ องค์ จารพระพุทธวจนะขึ้นสู่ใบลาน
๑๑. เรื่องราชวงสกถาแลประดิษฐานพระศาสนา


ปริจเฉทที่ ๔ ว่าด้วยพระพุทธทันตธาตุไปประดิษฐานในประเทศต่างๆ
๑. เรื่องพระวามทันตธาตุไปประดิษฐานในลังกาทวีป
๒. เรื่องพระพุทธทัตตะกับพระพุทธโฆษเถระไปแปลสีหฬภาษา ที่เกาะลังกาแล้วนำพระธาตุมาประดิษฐานไว้ในชมพูทวีป


ปริจเฉทที่ ๕ ว่าด้วยพระราชา ๕๐๐ องค์
๑. เรื่องแรกสร้างเมืองหริปุญไชย
๒. เรื่องนางจามเทวีได้เสวยราชย์ในเมืองหริปุญไชย
๓. เรื่องก่อพระเจดีย์แข่งขันเพื่อชิงชัยในระหว่างสงคราม
๔. เรื่องการผุดขึ้นแห่งพระมหาธาตุในเมืองหริปุญไชย
๕. เรื่องลำดับวงศ์พระเจ้าอาทิจจราช
๖. เรื่องอานิสงส์อันพระโบราณกษัตริย์ได้บำเพ็ญมา


ปริจเฉทที่ ๕ นี้เห็นได้ว่าเก็บเนื้อความทั้งหมดมาจากหนังสือจามเทวีวงศ์ของ พระโพธิรังษี


ปริจเฉทที่ ๖ ว่าด้วยราชวงศ์ในชมพูทวีปและลาววงศ์
๑. เรื่องลำดับวงศ์พระเจ้ามังรายราช
๒. เรื่องพระสุมนเถระได้พระธาตุแต่สุโขทัยมาไว้เมืองสัชนาไลย
๓. เรื่องพระเจ้ากิลนาราช (พระเจ้ากือนา) ส่งทูตไปเชิญ พระสุมนเถระมาทำสังฆกรรมที่นัพพิสิปุระ (เชียงใหม่)
๔. เรื่องพระสีหฬปฏิมาเสด็จมาเมืองชังราย
๕. เรื่องพระเจ้ากิลนาราชสร้างบุบผารามวิหาร ถวายพระสุมนเถระ
๖. เรื่องพระสีหฬสาสนาได้ดำเนิรมาถึงเมืองหริปุญไชย
๗. เรื่องพระสุรสีหได้ถาปนาพระธาตุเจดีย์เก่าในเมืองนัพพิสินคร
๘. เรื่องพระเจ้าสิริธรรมจักรพรรติราชาธิราชผูกพัทธสีมาสมมติ
๙. เรื่องพระรัตนปฏิมาเจ้าประดิษฐานในสยามประเทศ
๑๐. เรื่องพระราชาติลกอาราธนาให้พระภิกษุสงฆ์ชำระพระธรรมวินัย คือสังคีติครั้งที่ ๘
๑๑. เรื่องบังเกิดขึ้นแห่งพระลิขิพุทธปฏิมา
๑๒. เรื่องสร้างพระปฏิมาด้วยแก่นไม้จันทน์
๑๓. เรื่องก่อกำแพงศิลาเมืองหริปุญไชย
๑๔. เรื่องลำดับลาววงศราช


ปริจเฉทที่ ๗ ว่าด้วยทสราชวงศ์กรุงศรีอยุธยา
๑. เรื่องทสราชวงศ์ ครั้งที่ ๑
๒. เรื่องลำดับราชวงศ์ ครั้งที่ ๒
๓. เรื่องลำดับราชวงศ์ ครั้งที่ ๓
๔. เรื่องพระนครถึงความพินาศใหญ่


ปริจเฉทที่ ๘ ว่าด้วยสร้างกรุงรัตนโกสินทร์
๑. ว่าด้วยเหตุการณ์ต่างๆ แลสังคีตที่ ๙


ปริจเฉทที่ ๙ ว่าด้วยบอกอานิจสงส์แลความปรารถนา
๑. เรื่องอานิสงส์ต่างๆ แลพระเจดีย์ต่างๆ แลปัญจอันตรธาน
๒. เรื่องความปรารถนาเปนของผู้แต่งสังคีติยวงศ์


พระพิมลธรรม (สมเด็จพระวันรัตน) วัดพระเชตุพนฯ ได้ชี้แจงผลงานของท่านและความปรารถนาอันสูงสุดในการแต่งหนังสือเรื่องนี้ว่า

เรื่องราวสังคีติยวงศ์นั้น อาตมภาพพระพิมลธรรมภิกษุ มีจิตรศรัทธา รจนาไว้เพื่อประโยชน์แก่สรรพสัตวโลกแล ขอเทพยดาแลมนุษย์ทั้งหลายทั้งปวงก็ดี สรรพภูตแลสัตว์มีลมหายใจทั้งหลายก็ดี บรรดาที่ได้ประดิษฐานอยู่ในไตรโลก จงได้รับส่วนบุญของอาตมภาพเถิด......
ขอสรรพสัตว์ทั้งหลายนั้น จงหาโรคมิได้ ปราศจากอุปัททวะเถิด ขอให้มีอายุยืนมีความศุขใจเถิด อย่าได้คับแค้นใจเลย ของจงปราศจากทุกข์ปราศจากภัยทุกคาบเถิด ขอเทพยดาทั้งปวงจงมีความศุขให้มากๆ เถิด จงมียศประเสริฐเถิด จงมีฤทธิ์ใหญ่หลวงเถิด อย่าผูกเวรกันเลย ขอให้นิราศไร้โศกทั้งหลายเถิด.

ขอจงจำเริญในพระพุทธสาสนาเถิด
ตำราพระคัณฐะนี้ อาตมภาพได้แต่งในปีนี้ แต่พระสัมพุทธเจ้าปรินิพพานได้ ๒๓๓๒ ปี
อนึ่งหนังสือสังคีติยวงศ์นั้น พระพิมลธรรมภิกษุได้แต่งในเดือน ๕ ข้างขึ้น ปีรกาแล

ขอข้าพเจ้าได้เปนผู้ทรงไว้ซึ่งพระไตรปิฎก เปนผู้ประเสริฐ มีปัญญามาก ทรงฤทธิ์ใหญ่หลวง ด้วยเดชกุศลกรรมอันเปนส่วนบุญนี้ ขอให้เปนพระอัคคสาวกแล ไปในอนาคตกาล ขอให้ข้าพเจ้าเปนคนมีสติ มีเพียร มีปรีชา มีศีล มีศรัทธา มีสมาธิ มีเสียงแลอายุเหมือนพระพรหม.



พระสังคีติยวงศ์ วัณณนา จบเท่านี้



***********


1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ วันอังคาร, 27 มกราคม, 2552  

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆครับ

  © ขอขอบคุณ Blogger template 'Ultimatum' by s-hatcore ๒๕๕๐ : s-hatcore

กลับขึ้นข้างบน : Back to TOP