วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2554

การอบรมงานสารบัญและอินเตอร์เน็ตของคณะสงฆ์อำเภอโนนสูง


งานสารบรรณ
          งานที่เกี่ยวกับการบริหารงานเอกสาร  เริ่มตั้งแต่การจัดทำ  การรับ-การส่ง  การเก็บรักษา  การยืม   การทำลาย  ซึ่งเป็นการกำหนดขั้นตอนขอบข่ายของงานสารบรรณ  ในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารงานเอกสาร  เริ่มตั้งแต่ การคิด อ่าน ร่าง เขียน แต่ง พิมพ์ จดจำ ทำสำเนา ส่งหรือสื่อข้อความ  รับ  บันทึก  จดรายงานการประชุม  สรุป  ย่อเรื่อง  เสนอ สั่งการ  ตอบ  ทำรหัส  เก็บเข้าที่  ค้นหา  ติดตามและทำลาย  ต้องเป็นระบบที่ให้ความสะดวก  รวดเร็วถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
          เนื่องจากงานสารบรรณเป็นงานที่มีอยู่ทุกหน่วยงาน   การดำเนินงานต้องดำเนินงานด้วยระบบเอกสาร  ดังนั้นจึงต้องมีการกำหนดและการควบคุมงานสารบรรณให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
          การปฏิบัติงานสารบรรณ เป็นการปฏิบัติงานเกี่ยวกับหนังสือราชการ  ๖ ชนิด  คือ
                    ๑. หนังสือภายนอก
                    ๒. หนังสือภายใน
                    ๓. หนังสือประทับตรา
                    ๔. หนังสือสั่งการ
                    ๕. หนังสือประชาสัมพันธ์
                    ๖. หนังสือที่เจ้าหน้าที่จัดทำขึ้น  หรือรับไว้เป็นหลักฐานในราชการ
          จึงนำเสนอแนวทางการปฏิบัติงานสารบรรณ  เฉพาะหัวข้อที่สำคัญและปฏิบัติเป็นประจำ
ดังต่อไปนี้





๑. หนังสือภายนอก
          หนังสือภายนอก  คือ  หนังสือติดต่อราชการที่เป็นแบบพิธีโดยใช้กระดาษตราครุฑเป็นหนังสือติดต่อระหว่างส่วนราชการ  หรือส่วนราชการมีถึงหน่วยงานอื่นใดซึ่งมิใช่ส่วนราชการ  หรือที่มีถึงบุคคลภายนอก  ให้จัดทำตามแบบที่ ๑ ท้ายระเบียบ  โดยกรอกรายละเอียดดังนี้
          ๑.๑  ที่   ให้ลงรหัสตัวพยัญชนะและเลขประจำของเจ้าของเครื่อง  ตามที่กำหนดไว้ในภาคผนวก  ๑ ทับเลขทะเบียนหนังสือส่ง  สำหรับหนังสือของคณะกรรมการการให้กำหนดรหัสตัวพยัญชนะเพิ่มขึ้นได้ตามความจำเป็น
          ๑.๒  ส่วนงานเจ้าของหนังสือ  ให้ลงชื่อส่วนงาน  สถานที่ทำการ  หรือ  คณะกรรมการการซึ่งเป็นเจ้าของหนังสือนั้น  และโดยปกติให้ลงที่ตั้งไว้ด้วย
          ๑.๓  วัน  เดือน  ปี   ให้ลงตัวเลขของวันที่  ชื่อเต็มของเดือน  และตัวเลขของปีพุทธศักราชที่ออกหนังสือ
          ๑.๔  เรื่อง  ให้ลงเรื่องย่อที่เป็นใจความสั้นที่สุดของหนังสือฉบับนั้น ในกรณีที่เป็นหนังสือต่อเนื่องโดยปกติให้ลงเรื่องของหนังสือฉบับเดิม
          ๑.๕  คำขึ้นต้น  ให้ใช้คำขึ้นต้นตามฐานะของผู้รับหนังสือตามตารางการใช้คำขึ้นต้น  สรรพนามและคำลงท้าย  ที่กำหนดไว้ในภาคผนวก ๒ แล้วลงตำแหน่งของผู้ที่หนังสือนั้นมีถึง  หรือ ชื่อบุคคลในกรณีที่มีถึงตัวบุคคลไม่เกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่
          ๑.๖  อ้างถึง  (ถ้ามี)  ให้อ้างถึงหนังสือที่เคยมีติดต่อกันเฉพาะหนังสือที่ส่วนราชการ  ผู้รับหนังสือได้รับมาก่อนแล้วจะจากส่วนราชการใดก็ตามโดยให้ลงชื่อส่วนราชการเจ้าของหนังสือและเลขที่หนังสือ  วันที่  เดือน  ปีพุทธศักราชของหนังสือนั้น
          การอ้างถึง  ให้อ้างถึงหนังสือฉบับสุดท้ายที่ติดต่อกันเพียงฉบับเดียว  เว้นแต่มีเรื่องอื่นที่เป็นสาระสำคัญต้องนำมาพิจารณา จึงอ้างถึงหนังสือฉบับอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องนั้นโดยเฉพาะให้ทราบด้วย
          ๑.๗  สิ่งที่ส่งมาด้วย (ถ้ามี)ให้ลงชื่อสิ่งของ เอกสารหรือบรรณสารที่ส่ง
          ๑.๘  ข้อความ  ให้ลงสาระสำคัญของเรื่องให้ชัดเจนและเข้าใจง่าย  หากมีความประสงค์หลายประการให้แยกเป็นข้อ ๆ
          ๑.๙  คำลงท้าย   ให้ใช้คำลงท้ายตามฐานะของผู้รับหนังสือตามตารางการใช้คำขึ้นต้น  สรรพนาม  และคำลงท้าย  ที่กำหนดไว้ในภาคผนวก ๒
          ๑.๑๐  ลงชื่อ  ให้ลงลายมือชื่อเจ้าของหนังสือ  และให้พิมพ์ชื่อเต็มของเจ้าของลายมือชื่อไว้ใต้ลายมือชื่อ  ตามรายละเอียดที่กำหนดไว้ในภาคผนวก ๓
          ๑.๑๑  ตำแหน่ง   ให้ลงตำแหน่งของเจ้าของหนังสือ
          ๑.๑๒  ส่วนสำนักงานเจ้าของเรื่อง  ให้ลงชื่อส่วนสำนักงานเจ้าของเรื่อง  หรือหน่วยงานที่ออกหนังสือ  ถ้าส่วนราชการที่ออกหนังสืออยู่ในระดับหระทรวงหรือทบวง  ให้ลงชื่อส่วนราชการเจ้าของเรื่อง  ทั้งระดับกรมและกอง  ถ้าส่วนราชการที่ออกหนังสืออยู่ในระดับกรมลงมา  ให้ลงชื่อส่วนราชการเจ้าของเรื่องเพียงระดับกองหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ
          ๑.๑๓  โทร.  ให้ลงหมายเลขโทรศัพท์ของส่วนราชการเจ้าของเรื่อง  หรือหน่วยงานที่ออกหนังสือและหมายเลขภายในตู้สาขา  (ถ้ามี)  ไว้ด้วย
          ๑.๑๔  สำเนาส่ง  (ถ้ามี)  ในกรณีที่ผู้ส่งจัดทำสำเนาส่งไปให้ส่วนราชการ หรือบุคคลอื่นทราบ  และประสงค์จะให้ผู้รับทราบว่าได้มีสำเนาส่งไปให้ผู้ใดแล้ว  ให้พิมพ์ชื่อเต็มหรือชื่อย่อของส่วนราชการหรือชื่อบุคคลที่ส่งสำเนาไปให้  เพื่อให้เป็นที่เข้าใจระหว่างผู้ส่งและผู้รับ  ถ้าหากมีรายชื่อที่ส่งมากให้พิมพ์ว่า  ส่งไปตามรายชื่อแนบและแนบรายชื่อไปด้วย




๒. หนังสือภายใน
          หนังสือภายใน  คือ  หนังสือติดต่อราชการที่เป็นแบบพิธีน้อยกว่าหนังสือภายนอกเป็นหนังสือติดต่อภายในกระทรวง  ทบวง  กรมหรือจังหวัดเดียวกัน  ใช้กระดาษบันทึกข้อความ  และให้จัดทำตามแนบที่ ๒ ท้ายระเบียบ  โดยกรอกรายละเอียดดังนี้
          ๒.๑   ส่วนราชการ   ให้ลงชื่อส่วนราชการเจ้าของเรื่อง  หรือหน่วยงานที่ออกหนังสือ  โดยมีรายละเอียดพอสมควร  โดยปกติถ้าส่วนราชการที่ออกหนังสืออยู่ในระดับกรมขึ้นไป  ให้ลงชื่อส่วนราชการเจ้าของเรื่องทั้งระดับกรมและกอง  ถ้าส่วนราชการที่ออกหนังสืออยู่ในระดับต่ำกว่ากรมลงมา  ให้ลงชื่อส่วนราชการเจ้าของเรื่องเพียงระดับกอง  หรือส่วนราชการเจ้าของเรื่องพร้อมทั้งหมายเลขโทรศัพท์  (ถ้ามี)
          ๒.๒  ที่   ให้ลงรหัสตัวพยัญชนะและเลขประจำของเจ้าของเรื่อง  ตามที่กำหนดไว้ในภาคผนวก ๑ ทับเลขทะเบียนหนังสือส่ง  สำหรับหนังสือของคณะกรรมการให้กำหนดรหัสพยัญชนะเพิ่มขึ้นได้ตามความจำเป็น
          ๒.๓   วันที่   ให้ลงตัวเลขของวันที่  ชื่อเต็มของเดือน  และตัวเลขของปี  
พุทธศักราช  ที่ออกหนังสือ
          ๒.๔   เรื่อง   ให้ลงเรื่องย่อที่เป็นใจความสั้นที่สุดของหนังสือฉบับนั้น  ในกรณีที่เป็นหนังสือต่อเนื่อง  โดยปกติให้ลงเรื่องของหนังสือฉบับเดิม
          ๒.๕   คำขึ้นต้น  ให้ใช้คำขึ้นต้นตามฐานะของผู้รับหนังสือตามตารางการใช้คำขึ้นต้น  สรรพนาม  และคำลงท้าย  ที่กำหนดไว้ในภาคผนวก  ๒  แล้วลงตำแหน่งของผู้ที่หนังสือนั้นมีถึง หรือ ชื่อบุคคลในกรณีที่มีถึงตัวบุคคลไม่เกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่
          ๒.๖   ข้อความ  ให้ลงสาระสำคัญของเรื่องให้ชัดเจนและเข้าใจง่าย  หากมีความประสงค์หลายประการให้แยกเป็นข้อ ๆ ในกรณีที่มีการอ้างถึงหนังสือที่เคยมีติดต่อกันหรือมีสิ่งที่ส่งมาด้วยให้ระบุไว้ในข้อนี้
          ๒.๗   ลงชื่อและตำแหน่ง  ให้ปฏิบัติตามข้อ ๑.๑๐ และข้อ ๑.๑๑ โดยอนุโลมในกรณีที่กระทรวง  ทบวง  กรม  หรือจังหวัดใด  ประสงค์จะกำหนดแบบการเขียนโดยเฉพาะเพื่อใช้ตามความเหมาะสมก็ให้กระทำได้





๓. หนังสือประทับตรา
          หนังสือประทับตรา  คือ  หนังสือที่ใช้ประทับตราแทนการลงชื่อของหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมขึ้นไป  โดยให้หัวหน้าส่วนราชการระดับกองหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมขึ้นไป เป็นผู้รับผิดชอบลงชื่อย่อกำกับตรา
          หนังสือประทับตราให้ใช้ได้ทั้งระหว่างส่วนราชการกับส่วนราชการ  และระหว่างส่วนราชการกับบุคคลภายนอก  เฉพาะกรณีที่ไม่ใช่เรื่องสำคัญ  ได้แก่
                    ๓.๑   การขอรายละเอียดเพิ่มเติม
                    ๓.๒  การส่งสำเนาหนังสือ  สิ่งของ  เอกสาร  หรือบรรณสาร
                    ๓.๓  การตอบรับทราบที่ไม่เกี่ยวกับราชการสำคัญหรือการเงิน
                    ๓.๔  การแจ้งผลงานที่ได้ดำเนินการไปแล้วให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทราบ
                    ๓.๕  การเตือนเรื่องที่ค้าง
                    ๓.๖  เรื่องซึ่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมขึ้นไปกำหนดโดยทำเป็นคำสั่ง  ให้ใช้หนังสือประทับตรา

          หนังสือประทับตรา  ใช้กระดาษตราครุฑ  และให้จัดทำตามแบบที่ ๓ ท้ายระเบียบโดยกรอกรายละเอียดดังนี้
                    ๑.   ที่  ให้ลงรหัสตัวพยัญชนะและเลขประจำของเจ้าของเรื่องตามที่กำหนดไว้ในภาคผนวก ๑ ทับเลขทะเบียนหนังสือส่ง
                    ๒.   ถึง  ให้ลงชื่อส่วนราชการ  หน่วยงาน  หรือบุคคลที่หนังสือนั้นมีถึง
                    ๓.  ข้อความ  ให้ลงสาระสำคัญของเรื่องให้ชัดเจนและเข้าใจง่าย
                    ๔.  ชื่อส่วนราชการที่ส่งหนังสือออก  ให้ลงชื่อส่วนราชการที่ส่งหนังสือออก
                    ๕.  ตราชื่อส่วนราชการ  ให้ประทับตราชื่อส่วนราชการตามข้อ  ๗๒  ด้วยหมึกแดง  และให้ผู้รับผิดชอบลงลายมือชื่อย่อกำกับตรา
                    ๖.  วัน  เดือน  ปี   ให้ลงตัวเลขของวันที่  ชื่อเต็มของเดือน  และตัวเลขของปีพุทธศักราชที่ออกหนังสือ
                    ๗.  ส่วนราชการเจ้าของเรื่อง  ให้ลงชื่อส่วนราชการเจ้าของเรื่องหรือหน่วยงานที่ออกหนังสือ
                    ๘.  โทร.หรือที่ตั้ง   ให้ลงหมายเลขโทรศัพท์ของส่วนราชการเจ้าของเรื่องและหมายเลขภายในตู้สาขา  (ถ้ามี)  ด้วย ในกรณีที่ไม่มีโทรศัพท์  ให้ลงที่ตั้งของส่วนราชการเจ้าของเรื่องโดยให้ลงตำบลที่อยู่ตามความจำเป็น และแขวงไปรษณีย์  (ถ้ามี)




๔. หนังสือสั่งการ
          หนังสือสั่งการ  ให้ใช้ตามแบบที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้  เว้นแต่จะมีกฎหมายกำหนดแบบไว้โดยเฉพาะ
          หนังสือสั่งการมี  ๓  ชนิด  ได้แก่  คำสั่ง  ระเบียบ  และข้อบังคับ
          ๑.คำสั่ง   คือ  บรรดาข้อความที่ผู้บังคับบัญชาสั่งการให้ปฏิบัติโดยชอบด้วยกฎหมายใช้กระดาษตราครุฑ  และให้จัดทำตามแบบที่ ๔ ท้ายระเบียบ  โดยกรอกรายละเอียดดังนี้
                    ๑)  คำสั่ง  ให้ลงชื่อส่วนราชการหรือตำแหน่งของผู้มีอำนาจที่ออกคำสั่ง
                    ๒)  ที่   ให้ลงเลขที่ที่ออกคำสั่ง  โดยเริ่มฉบับแรกจากเลข  ๑  เรียงเป็นลำดับไปจนสิ้นปีปฏิทิน  ทับเลขปีพุทธศักราชที่ออกคำสั่ง
                    ๓)  เรื่อง   ให้ลงชื่อเรื่องที่ออกคำสั่ง
                    ๔)  ข้อความ   ให้อ้างเหตุที่ออกคำสั่ง   และอ้างถึงอำนาจที่ให้ออกคำสั่ง  (ถ้ามี)  ไว้ด้วย  แล้วจึงลงข้อความที่สั่ง  และวันใช้บังคับ
                    ๕)  สั่ง  ณ  วันที่  ให้ลงตัวเลขของวันที่   ชื่อเต็มของเดือน  และตัวเลขของปีพุทธสักราชที่ออกคำสั่ง
                    ๖)  ลงชื่อ  ให้ลงลายมือชื่อผู้ออกคำสั่ง  และพิมพ์ชื่อเต็มของเจ้าของลายมือชื่อไว้ใต้ลายมือชื่อ
                    ๗)  ตำแหน่ง   ให้ลงตำแหน่งของผู้ออกคำสั่ง

          ๒. ระเบียบ  คือ   บรรดาข้อความที่ผู้มีอำนาจหน้าที่วางไว้  โดยอาศัยอำนาจของกฎหมายหรือไม่ก็ได้  เพื่อถือเป็นหลักปฏิบัติงานเป็นการประจำ  ใช้กระดาษตราครุฑ  และให้จัดทำตามแบบที่  ๕  ท้ายระเบียบ  โดยกรอกรายละเอียดดังนี้
                    ๑)  ระเบียบ   ให้ลงชื่อส่วนราชการที่ออกระเบียบ
                    ๒)  ว่าด้วย   ให้ลงชื่อของระเบียบ
                    ๓)  ฉบับที่   ถ้าเป็นระเบียบที่กล่าวถึงเป็นครั้งแรกในเรื่องนั้น  ไม่ต้องลงว่าเป็นฉบับที่เท่าใด แต่ถ้าเป็นระเบียบเรื่องเดียวกันที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม  ให้ลงเป็น  ฉบับที่ ๒  และถัด ๆ ไป ตามลำดับ
                   ๔) พ.ศ.   ให้ลงตัวเลขของปีพุทธศักราชที่ออกระเบียบ
                   ๕)  ข้อความ   ให้อ้างเหตุผลโดยย่อ  เพื่อแสดงถึงความมุ่งหมายที่ต้องออกระเบียบ  และอ้างถึงกฎหมายที่ให้อำนาจออกระเบียบ (ถ้ามี)
                   ๖)  ข้อ   ให้เรียงข้อความที่จะใช้เป็นระเบียบเป็นข้อ ๆ โดยให้ข้อ ๑ เป็นชื่อระเบียบ ข้อ ๒ เป็นวันใช้บังคับกำหนดว่าให้ใช้บังคับตั้งแต่เมื่อใด และข้อสุดท้าย เป็นข้อผู้รักษาการระเบียบใดถ้ามีมากข้อหรือหลายเรื่องจะแบ่งเป็นหมวดก็ได้  โดยให้ย้ายข้อผู้รักษาการไปเป็นข้อสุดท้ายก่อนที่จะขึ้นหมวด ๑
                    ๗)  ประกาศ  ณ  วันที่   ให้ลงตัวเลขของวันที่  ชื่อเต็มของเดือน  และตัวเลขของปีพุทธศักราชที่ออกระเบียบ
                    ๘)  ลงชื่อ   ให้ลงลายมือชื่อผู้ออกระเบียบ  และพิมพ์ชื่อเต็มของเจ้าของลายมือชื่อไว้ใต้ลายมือชื่อ
                    ๙)  ตำแหน่ง    ให้ลงตำแหน่งของผู้ออกระเบียบ

          ๓. ข้อบังคับ    คือ   บรรดาข้อความที่ผู้มีอำนาจหน้าที่กำหนดให้ใช้   โดยอาศัยอำนาจของกฎหมายที่บัญญัติให้กระทำได้  ใช้กระดาษตราครุฑ  และให้จัดทำตามแบบที่  ๖  ท้ายระเบียบ  โดยกรอกรายละเอียดดังนี้
                    ๑)  ข้อบังคับ   ให้ลงชื่อส่วนราชการที่ออกข้อบังคับ
                    ๒)  ว่าด้วย   ให้ลงชื่อของข้อบังคับ
                    ๓)  ฉบับที่   ถ้าเป็นข้อบังคับที่กล่าวถึงเป็นครั้งแรกในเรื่องนั้น  ไม่ต้องลงว่าเป็นฉบับที่เท่าใด  แต่ถ้าเป็นข้อบังคับเรื่องเดียวกันที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้ลงเป็นฉบับที่ ๒ และที่ถัด ๆ ไป ตามลำดับ
                    ๔)  พ.ศ.   ให้ลงตัวเลขของปีพุทธศักราชที่ออกข้อบังคับ
                    ๕)  ข้อความ   ให้อ้างเหตุผลโดยย่อเพื่อแสดงถึงความมุ่งหมายที่ต้องออกข้อบังคับ  และอ้างถึงกฎหมายที่ให้อำนาจออกข้อบังคับ
                    ๖)  ข้อ   ให้เรียงข้อความที่จะใช้บังคับเป็นข้อ ๆ โดยให้ข้อ ๑ เป็นชื่อข้อบังคับข้อ ๒ เป็นวันใช้บังคับกำหนดว่าให้ใช้บังคับตั้งแต่เมื่อใด  และข้อสุดท้ายเป็นข้อผู้รักษาการ  ข้อบังคับใดถ้ามีมากข้อหรือหลายเรื่องจะแบ่งเป็นหมวดก็ได้  โดยให้ย้ายข้อผู้รักษาการไปเป็นข้อสุดท้ายก่อนที่จะขึ้นหมวด ๑
                    ๗)  ประกาศ  ณ  วันที่   ให้ลงตัวเลขของวันที่  ชื่อเต็มของเดือนและตัวเลขของปีพุทธศักราชที่ออกข้อบังคับ
                    ๘)  ลงชื่อ   ให้ลงลายมือชื่อผู้ออกข้อบังคับ  และพิมพ์ชื่อเต็มของเจ้าของลายมือชื่อ  ไว้ใต้ลายมือชื่อ
                    ๙)  ตำแหน่ง   ให้ลงตำแหน่งของผู้ออกข้อบังคับ
                  


๕. หนังสือประชาสัมพันธ์
          หนังสือประชาสัมพันธ์  ให้ใช้ตามแบบที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ เว้นแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะ
          หนังสือประชาสัมพันธ์มี ๓ ชนิด ประกาศ  แถลงการณ์  และข่าว
          ๑. ประกาศ   คือ  บรรดาข้อความที่ทางราชการประกาศหรือชี้แจงให้ทราบหรือแนะแนวทางปฏิบัติ  ใช้กระดาษตราครุฑ  และให้จัดทำตามแบบที่ ๗ ท้ายระเบียบ  โดยกรอกรายละเอียด ดังนี้
                    ๑)  ประกาศ  ให้ลงชื่อส่วนราชการที่ออกประกาศ
                    ๒)  เรื่อง   ให้ลงชื่อเรื่องที่ประกาศ
                    ๓)  ข้อความ   ให้อ้างเหตุผลที่ต้องออกประกาศ และข้อความที่ประกาศ
                    ๔)  ประกาศ  ณ  วันที่    ให้ลงตัวเลขของวันที่  ชื่อเต็มของเดือน  และตัวเลขของปีพุทธศักราชที่ออกประกาศ
                    ๕)  ลงชื่อ   ให้ลงลายมือชื่อผู้ออกประกาศ  และพิมพ์ชื่อเต็มของเจ้าของลายมือชื่อไว้ใต้ลายมือชื่อ
                    ๖)  ตำแหน่ง  ให้ลงตำแหน่งของผู้ออกประกาศ
          ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้ทำเป็นแจ้งความ  ให้เปลี่ยนคำว่าประกาศ เป็นแจ้งความ

          ๒. แถลงการณ์  คือ  บรรดาข้อความที่ทางราชการแถลง  เพื่อทำความเข้าใจในกิจการของทางราชการหรือเหตุการณ์หรือกรณีใดๆ  ให้ทราบชัดเจนโดยทั่วกัน ใช้กระดาษตราครุฑ  และให้จัดทำตามแบบที่ ๘ ท้ายระเบียบ  โดยกรอกรายละเอียดดังนี้
                    ๑)  แถลงการณ์   ให้ลงชื่อส่วนราชการที่ออกแถลงการณ์
                    ๒)  เรื่อง   ให้ลงชื่อเรื่องที่ออกแถลงการณ์
                    ๓)  ฉบับที่  ใช้ในกรณีที่จะต้องออกแถลงการณ์หลายฉบับในเรื่องเดียวที่ต่อเนื่องกัน ให้ลงฉบับที่เรียงตามลำดับไว้ด้วย
                    ๔)  ข้อความ  ให้อ้างเหตุผลที่ต้องออกแถลงการณ์และข้อความที่แถลงการณ์
                    ๕)  ส่วนราชการที่ออกแถลงการณ์   ให้ลงชื่อส่วนราชการที่ออกแถลงการณ์
                    ๖)  วัน  เดือน  ปี   ให้ลงตัวเลขของวันที่  ชื่อเต็มของเดือน  และตัวเลขของปีพุทธศักราชที่ออกแถลงการณ์

          ๓. ข่าว   คือ  บรรดาข้อความที่ทางราชการเห็นสมควรเผยแพร่ให้ทราบ  ให้จัดทำตามแบบที่ ๙ ท้ายระเบียบ  โดยกรอกรายละเอียดดังนี้
                    ๑)  ข่าว  ให้ลงชื่อส่วนราชการที่ออกข่าว
                    ๒)  เรื่อง   ให้ลงชื่อเรื่องที่ออกข่าว
                    ๓)  ฉบับที่   ใช้ในกรณีที่จะต้องออกข่าวหลายฉบับในเรื่องเดียวที่ต่อเนื่องกันให้ลงฉบับที่ เรียงตามลำดับไว้ด้วย
                    ๔)  ข้อความ   ให้ลงรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องของข่าว
                    ๕)  ส่วนราชการที่ออกข่าว    ให้ลงชื่อส่วนราชการที่ออกข่าว
                    ๖)  วัน  เดือน  ปี   ให้ลงตัวเลขของวันที่   ชื่อเต็มของเดือน  และตัวเลขของปีพุทธศักราชที่ออกข่าว




๖. หนังสือที่เจ้าหน้าที่ทำขึ้นหรือรับไว้เป็นหลักฐานในราชการ
          หนังสือที่เจ้าหน้าที่ทำขึ้นหรือรับไว้เป็นหลักฐานในราชการ  คือหนังสือที่ทางราชการทำขึ้นนอกจากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น  หรือหนังสือที่หน่วยงานอื่นใดซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือบุคคลภายนอกมีมาถึงส่วนราชการ และส่วนราชการรับไว้เป็นหลักฐานของทางราชการ มี ๔ ชนิดคือ  หนังสือรับรองรายงานการประชุม

          ๑. หนังสือรับรอง   คือ  หนังสือที่ส่วนราชการออกให้เพื่อรับรองแก่บุคคล  นิติบุคคลหรือหน่วยงาน  เพื่อวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใดให้ปรากฏแก่บุคคลโดยทั่วไปไม่จำเพาะเจาะจง  ใช้กระดาษตราครุฑ และให้จัดทำตามแบบที่  ๑๐  ท้ายระเบียบ  โดยกรอกรายละเอียดดังนี้
                    ๑)  เลขที่   ให้ลงเลขที่ของหนังสือรับรองโดยเฉพาะ  เริ่มตั้งแต่เลข ๑ เรียงเป็นลำดับไปจนถึงสิ้นปีปฏิทิน  ทับเลขปีพุทธศักราชที่ออกหนังสือรับรอง  หรือลงเลขที่ของหนังสือทั่วไปตามแบบหนังสือภายนอกอย่างหนึ่งอย่างใด
                    ๒)  ส่วนราชการเจ้าของหนังสือ   ให้ลงชื่อของส่วนราชการ  ซึ่งเป็นเจ้าของหนังสือนั้น  และจะลงสถานที่ตั้งของส่วนราชการเจ้าของหนังสือด้วยก็ได้
                    ๓)  ข้อความ   ให้ลงข้อความขึ้นต้นว่า  หนังสือฉบับนี้ให้ไว้เพื่อรับรองว่าแล้วต่อด้วยชื่อบุคคล  นิติบุคคล  หรือหน่วยงานที่ทางราชการรับรอง  ในกรณีเป็นบุคคลให้พิมพ์ชื่อเต็ม  โดยมีคำนำหน้านาม  ชื่อ  นามสกุล   ตำแหน่งหน้าที่   และสังกัดหน่วยงานที่ผู้นั้นทำงานอยู่อย่างชัดเจน  แล้วจึงลงข้อความที่รับรอง
                    ๔)  ให้ไว้   ณ  วันที่    ให้ลงตัวเลขของวันที่  ชื่อเต็มของเดือน  และตัวเลขของปีพุทธศักราชที่ออกหนังสือรับรอง
                    ๕)  ลงชื่อ    ให้ลงลายมือชื่อหัวหน้าส่วนราชการผู้ออกหนังสือหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย  และพิมพ์ชื่อเต็มของเจ้าของลายมือชื่อไว้ใต้ลายมือชื่อ
                    ๖)  ตำแหน่ง    ให้ลงตำแหน่งของผู้ลงลายมือชื่อในหนังสือ
                    ๗)  รูปถ่ายและลายมือชื่อผู้ได้รับการรับรอง   ในกรณีที่การรับรองเป็นเรื่องสำคัญที่ออกให้แก่บุคคลให้ติดรูปถ่ายของผู้ที่ได้รับการรับรอง  ขนาด  ๔ x ๖  เซนติเมตร  หน้าตรง  ไม่สวมหมวก  ประทับตราชื่อส่วนราชการที่ออกหนังสือบนขอบล่างด้านขวาของรูปถ่ายคาบต่อลงบนแผ่นกระดาษและให้  ผู้นั้นลงลายมือชื่อไว้ใต้รูปถ่ายพร้อมทั้งพิมพ์ชื่อเต็มของเจ้าของลายมือชื่อไว้ใต้ลายมือชื่อด้วย

          ๒. รายงานการประชุม  คือ   การบันทึกความคิดเห็นของผู้มาประชุม   ผู้เข้าร่วมประชุม และมติของที่ประชุมไว้เป็นหลักฐาน  ให้จัดทำตามแบบที่  ๑๑  ท้ายระเบียบ  โดยกรอกรายละเอียด  ดังนี้
                    ๑)  รายงานการประชุม   ให้ลงชื่อคณะที่ประชุมหรือชื่อการประชุมนั้น
                    ๒)  ครั้งที่ ให้ลงครั้งที่ประชุม
                    ๓)   เมื่อ  ให้ลงวันเดือนปีที่ประชุม
                    ๔)   ณ   ให้ลงสถานที่ที่ประชุม
                    ๕)   ผู้มาประชุม  ให้ลงชื่อและหรือตำแหน่งของผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะที่ประชุมซึ่งมาประชุม ในกรณีที่มีผู้มาประชุมแทนให้ลงชื่อผู้มาประชุมแทน  และลงว่ามาประชุมแทนผู้ใดหรือตำแหน่งใด
                    ๖)  ผู้ไม่มาประชุม  ให้ลงชื่อและหรือตำแหน่งของผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะที่ประชุมซึ่งมิได้มาประชุมพร้อมทั้งเหตุผล  (ถ้ามี)
                    ๗)  ผู้เข้าร่วมประชุม   ให้ลงชื่อและหรือตำแหน่งของผู้ที่มิได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะที่ประชุมซึ่งได้เข้าร่วมประชุม  (ถ้ามี)
                    ๘)  เริ่มประชุมเวลา  ให้ลงเวลาที่เริ่มประชุม
                    ๙)  ข้อความ  ให้บันทึกข้อความที่ประชุม  โดยปกติให้เริ่มต้นด้วยประธานกล่าวเปิดประชุม  และเรื่องที่ประชุม  กับมติหรือข้อสรุปของที่ประชุมในแต่ละเรื่องตามลำดับ
                    ๑๐)  เลิกประชุมเวลา  ให้ลงเวลาที่เลิกประชุม
                    ๑๑)  ผู้จดรายงานการประชุม   ให้ลงชื่อผู้จดรายงานการประชุมครั้งนั้น

          ๓. บันทึก   คือ  ข้อความซึ่งผู้ใต้บังคับบัญชาเสนอต่อผู้บังคับบัญชา  หรือผู้บังคับบัญชาสั่งการแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา หรือข้อความที่เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานระดับต่ำกว่าส่วนราชการระดับกรมติดต่อกันในการปฏิบัติราชการ  โดยปกติให้ใช้กระดาษบันทึกข้อความ  และให้มีหัวข้อดังต่อไปนี้
                     ๑)  ชื่อหรือตำแหน่งที่บันทึกถึง   โดยใช้คำขึ้นต้นตามที่กำหนดไว้  ในภาคผนวก ๒
                     ๒)  สาระสำคัญของเรื่อง  ให้ลงใจความของเรื่องที่บันทึกถ้ามีเอกสารประกอบก็ให้ระบุไว้ด้วย
                     ๓)  ชื่อและตำแหน่ง   ให้ลงลายมือชื่อและตำแหน่งของผู้บันทึก  และในกรณีที่ไม่ใช้กระดาษบันทึกข้อความ  ให้ลงวัน  เดือน  ปี  ที่บันทึกไว้ด้วย
           การบันทึกต่อเนื่อง  โดยปกติให้บันทึกระบุคำขึ้นต้น  ใจความบันทึก  และลงชื่อเช่นเดียวกับที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น  และให้ลงวัน เดือน ปี กำกับใต้ลายมือชื่อผู้บันทึก  หากไม่มีความเห็นใดเพิ่มเติมให้ลงชื่อและ วัน เดือน ปี กำกับเท่านั้น

          ๔. หนังสืออื่น  คือ  หนังสือหรือเอกสารอื่นใดที่เกิดขึ้นเนื่องจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เพื่อเป็นหลักฐานในทางราชการ  ซึ่งรวมถึง  ภาพถ่าย  ฟิล์ม  แถบบันทึกเสียง  แถบบันทึกภาพด้วย  หรือ หนังสือของบุคคลภายนอกที่ยื่นต่อเจ้าหน้าที่และเจ้าหน้าที่ได้รับเข้าทะเบียนรับหนังสือของทางราชการแล้วมีรูปแบบตามที่กระทรวง  ทบวง  กรมจะกำหนดขึ้นใช้ตามความเหมาะสม   เว้นแต่มีแบบตามกฎหมายเฉพาะเรื่องให้ทำตามแบบเช่น  โฉนด  แผนที่  แบบ  แผนผัง  สัญญา  หลักฐานการสืบสวนและสอบสวนและคำร้อง  เป็นต้น




เบ็ดเตล็ด
          ๑. หนังสือที่ต้องปฏิบัติให้เร็วกว่าปกติ  เป็นหนังสือที่ต้องจัดส่งและดำเนินการทางสารบรรณด้วยความรวดเร็วเป็นพิเศษ  แบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ
                    ๑)  ด่วนที่สุด  ให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติในทันทีที่ได้รับหนังสือนั้น
                    ๒)  ด่วนมาก   ให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติโดยเร็ว
                    ๓)  ด่วน   ให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติเร็วกว่าปกติ  เท่าที่จะทำได้
          ให้ระบุชั้นความเร็วด้วยตัวอักษรสีแดงขนาดไม่เล็กกว่าตัวพิมพ์โป้ง  ๓๒ พอยท์  ให้เห็นได้ชัดบนหนังสือและบนซอง ตามที่กำหนดไว้ในแบบที่ ๑ แบบที่ ๒ แบบที่ ๓ และแบบที่ ๑๕ ท้ายระเบียบ  โดยให้ระบุคำว่า  ด่วนที่สุด  ด่วนมาก  หรือด่วน  สำหรับหนังสือตามข้อ ๒๘.๑  ข้อ ๒๘.๒  และข้อ ๒๘.๓ แล้วแต่กรณี
          ในกรณีที่ต้องการให้หนังสือส่งถึงผู้รับภายในเวลาที่กำหนด  ให้ระบุคำว่า  ด่วนภายใน  แล้วลง วัน เดือน ปี และกำหนดเวลาที่ต้องการให้หนังสือนั้นไปถึงผู้รับ  กับเจ้าหน้าที่ส่งถึงผู้รับ  ซึ่งระบุบนหน้าซองภายในเวลาที่กำหนด

          ๒. เรื่องราชการที่จะดำเนินการหรือสั่งการด้วยหนังสือได้ไม่ทัน  ให้ส่งข้อความทางเครื่องมือสื่อสาร  เช่น  โทรเลข  วิทยุโทรเลข   โทรพิมพ์  โทรศัพท์  วิทยุสื่อสาร  วิทยุกระจายเสียง  หรือวิทยุโทรทัศน์  เป็นต้น  และให้ผู้รับปฏิบัติเช่นเดียวกับได้รับหนังสือในกรณีที่จำเป็นต้องยืนยันเป็นหนังสือ  ให้ทำหนังสือยืนยันตามไปทันที
          การส่งข้อความทางเครื่องมือสื่อสารซึ่งไม่มีหลักฐานปรากฏชัดแจ้ง  เช่น ทางโทรศัพท์  วิทยุสื่อสาร  วิทยุกระจายเสียง  หรือ  วิทยุโทรทัศน์  เป็นต้น  ให้ส่งและผู้รับบันทึกข้อความไว้เป็นหลักฐาน

          ๓. หนังสือที่จัดทำขึ้นโดยปกติให้มีสำเนาคู่ฉบับเก็บไว้ที่ต้นเรื่อง  ๑  ฉบับ  และให้มีสำเนาเก็บไว้ที่หน่วยงานสารบรรณกลาง  ๑  ฉบับ
          สำเนาคู่ฉบับให้ผู้ลงชื่อลงลายมือชื่อหรือลายมือชื่อย่อ  และให้ผู้ร่าง  ผู้พิมพ์  และผู้ตรวจลงลายมือชื่อหรือลายมือชื่อย่อไว้ที่ข้างท้ายขอบล่างด้านขวาของหนังสือ

          ๔. หนังสือที่เจ้าของหนังสือเห็นว่า  มีส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้องควรได้รับทราบด้วยโดยปกติให้ส่งสำเนาไปให้ทราบโดยทำเป็นหนังสือประทับตรา
          สำเนาหนังสือนี้ให้มีคำรับรองว่า  สำเนาถูกต้อง  โดยให้เจ้าหน้าที่ตั้งแต่ระดับ ๒ หรือเทียบเท่าขึ้นไป ซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องลงลายมือชื่อรับรอง  พร้อมทั้งลงชื่อตัวบรรจงและตำแหน่งที่ขอบล่างของหนังสือ

          ๕. หนังสือเวียน   คือ  หนังสือที่มีถึงผู้รับเป็นจำนวนมาก  มีใจความอย่างเดียวกัน ให้เพิ่มรหัสตัวพยัญชนะ  ว   หน้าเลขทะเบียนหนังสือส่ง  ซึ่งกำหนดเป็นเลขที่หนังสือเวียนโดยเฉพาะ เริ่มตั้งแต่เลข ๑ เรียงเป็นลำดับไปจนถึงสิ้นปีปฏิทิน  หรือใช้เลขที่ของหนังสือทั่วไปตามแบบหนังสือภายนอกอย่างหนึ่งอย่างใด
          เมื่อผู้รับได้รับหนังสือเวียนแล้วเห็นว่าเรื่องนั้น  จะต้องให้หน่วยงานหรือบุคคลในบังคับบัญชาในระดับต่าง ๆ ได้รับทราบด้วย  ก็ให้มีหน้าที่จัดทำสำเนาหรือจัดส่งให้หน่วยงานหรือบุคคลเหล่านั้นโดยเร็ว

          ๖. สรรพนามที่ใช้ในหนังสือ   ให้ใช้ตามฐานะแห่งความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของหนังสือและผู้รับหนังสือ

          ๗. หนังสือภาษาต่างประเทศ  ให้ใช้กระดาษตราครุฑ
          หนังสือที่เป็นภาษาอังกฤษ ให้ทำตามแบบที่กำหนดไว้ในภาคผนวก ๔ สำหรับหนังสือที่เป็นภาษาอื่นๆ ซึ่งมิใช่ภาษาอังกฤษ  ให้เป็นไปตามประเพณีนิยม

  © ขอขอบคุณ Blogger template 'Ultimatum' by s-hatcore ๒๕๕๐ : s-hatcore

กลับขึ้นข้างบน : Back to TOP